Skip to main content
sharethis

ผลสำรวจ “ยกระดับ 4 บริการบัตรทอง สู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่” ประชาชนตอบรับ ระบุนโยบายมีประโยชน์ เพิ่มความสะดวกรับบริการ เผยอันดับการรับรู้นโยบายใหม่ “ย้ายหน่วยบริการเกิดสิทธิทันที” ประชาชนรับรู้มากสุดร้อยละ 74.78 พร้อมเสนอแนะขยายบริการครอบคลุมทุกพื้นที่ เพิ่มการสื่อสาร ครอบคลุมทุกช่องทางทุกกลุ่มอายุ บูรณาการระบบและเชื่อมโยงข้อมูล 

ประชาชนตอบรับ 'ยกระดับบริการบัตรทอง' นโยบายมีประโยชน์ เพิ่มความสะดวกรับบริการ

20 ก.พ. 2564 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีนโยบาย “ยกระดับบัตรทอง สู่ระบบหลักประกันสุขภาพยุคใหม่” โดย สปสช. ได้พัฒนา 4 บริการใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดย 4 บริการดังกล่าว ได้แก่ 1. ประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ภายในเครือข่าย นำร่อง กทม. และเขตสุขภาพที่ 9 นครชัยบุรินทร์ 2. ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว นำร่องเขตสุขภาพที่ 9 นครชัยบุรินทร์ 3. โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม พร้อมกันทั่วประเทศ และ 4. ย้ายหน่วยบริการเกิดสิทธิทันทีไม่ต้องรอ 15 วัน พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งทั้งหมดได้เริ่มให้บริการประชาชนผู้มีสิทธิแล้ว 

ด้วยเป็นการจัดระบบบริการใหม่เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง    ที่ผ่านมา สปสช. ได้ทำการสำรวจการรับรู้และความเห็นของประชาชนต่อบริการตามนโยบายดังกล่าว โดยดำเนินการแล้ว 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2563 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22-28 มกราคม 2564 ในรูปแบบ quick survey กระจายทุกพื้นที่ มีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจทั้งสิ้นจำนวน 2,343 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นประชาชน 1,398 คน หรือร้อยละ 59.63 และผู้ให้บริการ 945 คน หรือร้อยละ 40.33  

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากการสรุปภาพรวมของการสำรวจการรับรู้และความเห็นทั้ง 2 ครั้ง เรื่องที่รับรู้มากที่สุด ได้แก่ ย้ายหน่วยบริการเกิดสิทธิทันทีไม่ต้องรอ 15 วัน ร้อยละ 74.78 รองลงมาคือโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ร้อยละ 65.98 ประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ภายในเครือข่าย ร้อยละ 65.43 และ ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว ร้อยละ 63.38 โดยผู้ตอบแบบสำรวจถึงร้อยละ 96.6 เห็นว่าการยกระดับบัตรทองเป็นนโยบายที่ดีและเป็นประโยชน์ และร้อยละ 80.3 ระบุว่ามีความสะดวกในการเข้ารับบริการ มีเพียงร้อยละ 19.7 ที่ระบุว่าไม่ได้รับความสะดวกในการรับบริการ ในจำนวนนี้ร้อยละ 2.6 ให้เหตุผลว่า เนื่องจากหน่วยบริการปฏิเสธให้บริการ ร้อยละ 5.39 ระบุว่าเจ้าหน้าที่ไม่ทราบนโยบาย และร้อยละ 11.71 ระบุว่าขั้นตอนยุ่งยาก ซึ่ง สปสช. จะนำไปพิจารณาและปรับปรุงต่อไป 

นอกจากนี้ในการสำรวจการรับรู้และความเห็นฯ ในครั้งนี้ได้เปิดให้ผู้ตอบแบบสอบถามร่วมเสนอแนะความเห็น โดยในส่วนของความเห็นต่อนโยบาย ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าเป็นนโยบายที่ดีและมีประโยชน์ ควรดำเนินการทุกพื้นที่ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องในทุกสิทธิ ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ระบุควรสื่อสารให้ผู้รับบริการและผู้ให้บริการเข้าใจตรงกัน เพิ่มช่องทางการสื่อสารให้หลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ มีรายละเอียดที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย ทั้งรายละเอียดขั้นตอนการเข้ารับบริการ ข้อจำกัด รายชื่อหน่วยบริการที่พร้อมให้บริการ และด้านระบบบริการ ควรพัฒนาระบบบริการให้เกิดความเท่าเทียม พัฒนาระบบข้อมูลของหน่วยบริการให้เชื่อมโยงและใช้ประโยชน์ร่วมกัน การบูรณาการโปรแกรม แอพพลิเคชั่น ให้เป็นระบบเดียว เพิ่มหน่วยบริการปฐมภูมิ คลินิก โรงพยาบาลให้ครอบคลุมทุกเขต และเพิ่มบุคลากรสาธารณสุขให้พอเพียง 

“ภาพรวมจากผลสำรวจทั้ง 2 ครั้งนี้ สะท้อนว่าประชาชนได้ให้การตอบรับนโยบายยกระดับบริการบัตรทองด้วยดี มองว่าเป็นนโยบายที่มีประโยชน์ ทำให้ได้รับบริการที่สะดวกเพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนความไม่สะดวกในการเข้ารับบริการ และข้อเสนอแนะต่างๆ สปสช. จะนำไปปรับปรุงและพัฒนาต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net