Skip to main content
sharethis

สภานายจ้างฯ เตือนรัฐอย่าลืมเดือน มี.ค.-เม.ย. จะเป็นช่วงนักศึกษาจบใหม่ เข้ามาในตลาดแรงงานอีก 5 แสนคน กังวลมีโอกาสตกงานสูง

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่าการจ้างงานใหม่ในปี 2564 ภาพรวมยังฟืนตัวได้ไม่ดี เนื่องจากโควิด-19 ทำให้ภาคท่องเที่ยว บริการ และอุตสาหกรรม ต่างได้รับผลกระทบ โดยจากการประเมินตัวเลขล่าสุดพบว่าแรงงานที่ตกงานสะสมยังอยู่ในระดับ 1.5-1.7 ล้านคน

ขณะเดียวกันนักศึกษาจบใหม่ช่วง มี.ค.-เม.ย. 2564 จะเข้ามาอีกราว 5 แสนคน รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องตลอดปีนี้ เพื่อประคองและฟื้นฟูธุรกิจรองรับเศรษฐกิจที่คาดว่าทั้งไทยและโลกจะค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวหลังมีความชัดเจนในการฉีดวัคซีนโควิด-19 มากขึ้น

นิยามการมีงานทำของไทยไม่สะท้อนข้อเท็จจริง แต่เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วปีนี้น่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัว ซึ่งการตกงานจะลดน้อยลงกว่าเดิม แต่การจ้างงานใหม่ยังไม่ได้ฟื้นตัวมากนักเพราะแรงงานภาคท่องเที่ยว ยังคงกลับมาได้น้อย จนกว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ซึ่งดีสุดก็ปลายปีนี้

ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้นหากดูทิศทางการส่งออก ม.ค. 2564 ที่โต 0.35% มีทิศทางที่ดีขึ้นแต่ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ทำให้การใช้อัตรากำลังผลิตลดลงและค่อยๆฟื้นตัวแต่ก็ยังไม่เต็มที่ทำให้โอกาสที่จะรับคนเพิ่มจึงน้อยเว้นแต่อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงเช่น วัสดุทางการแพทย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ การส่งออกปี 2563 พบว่าใน 30 คลัสเตอร์หลักของภาคอุตสาหกรรมนั้นใน 18 คลัสเตอร์ที่คิดเป็นสัดส่วน 60% ของการส่งออกยังคงติดลบอาทิ เหล็ก อัญมณี ยางพารา เครื่องสำอาง ยานยนต์ เคมี ฯลฯ ดังนั้นทำให้ธุรกิจบางส่วนยังคงต้องประคองตัวและบางธุรกิจเช่นยางพารา บางรายเข้าสู่แผนฟื้นฟูแล้ว ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อฟื้นฟูธุรกิจให้ต่อเนื่อง

ที่มา: TNN, 4/3/2564

ลาออก-เกษียณพุ่ง “กสร.” ปั้นเมนเทอร์มืออาชีพ สอนงานเด็กใหม่ เพิ่มศักยภาพองค์กร

อัตราลาออก-เกษียณอายุข้าราชการในแต่ละปีมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น กสร.พัฒนาศักยภาพบุคลากร ฝึกฝนให้เป็นพี่เลี้ยงมืออาชีพ หวังให้สอนงานบุคลากรที่มีประสบการณ์น้อยกว่า หรือบุคลากรใหม่ ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพ บนพื้นฐานของระบบการพัฒนาบุคลากรอย่างสร้างสรรค์ที่มั่นคง และยั่งยืน

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.)เปิดเผยว่า ปัจจุบันอัตราการลาออกและการเกษียณอายุของข้าราชการ ในแต่ละปีมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ทำให้องค์ความรู้ที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ในการทำงานของบุคลากรเหล่านี้ อาจจะสูญหายไปพร้อมกับตัวบุคคลจนน่าเสียดาย ดังนั้นเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้โดยนำมาพัฒนาให้เกิดเป็นการสอนงานในระบบพี่เลี้ยง (Mentoring) ที่มีความจำเป็น เนื่องจากเป็นหลักการที่ช่วยส่งเสริม และพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ ก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริต โดยเป็นไปตามกฎระเบียบ ส่งผลให้การดำเนินการขององค์กรเป็นไปอย่างราบรื่น

ทั้งนี้สอดรับกับนโยบายของนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง มีความต้องการให้บุคลากรในสังกัดกระทรวงแรงงานได้มีความเป็นพี่ เป็นน้องกัน มีน้ำใจช่วยเหลือกันทั้งในเรื่องงาน และความสัมพันธ์ส่วนตัว กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงได้จัดทำหลักสูตร การสร้างและพัฒนาการสอนงานและการเป็นพี่เลี้ยงของกรมขึ้น จำนวน 2 รุ่น เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพบุคลากรกรมในด้านการสอนงาน แนะนำ และการเป็นพี่เลี้ยงที่มีคุณภาพ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ในแต่ละภารกิจของกรมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อช่วยให้บุคลากรใหม่สามารถเรียนรู้และปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว ลดความผิดพลาดในการทำงาน รวมทั้งมีความรู้ ความเข้าใจในวัฒนธรรมองค์กร ลักษณะ การทำงานร่วมกัน และนำไปสู่การมีทัศนคติที่ดีต่อกรม

โดยผู้เข้าอบรมเป็นข้าราชการของกรมประเภทวิชาการตั้งแต่ระดับปฏิบัติการจนถึงชำนาญการพิเศษ ในสังกัดทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมจำนวนทั้งสิ้น 86 คน ใช้เวลาอบรมรุ่นละ 5 วัน อย่างเข้มข้นด้วยรูปแบบการบรรยายและฝึกปฏิบัติ ฝึกฝนให้เป็นพี่เลี้ยงแบบมืออาชีพ และออกไปทำหน้าที่สอนงาน เป็นที่ปรึกษาให้กับน้องใหม่ หรือผู้ที่มีประสบการณ์น้อยกว่าด้วยความมั่นใจ จนทำให้ผู้ที่ได้รับการสอนงานเกิดทักษะการทำงานที่ดีขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดความรัก ความผูกพันในองค์กร เนื่องจากได้รับความช่วยเหลือ การสอนงาน การสนับสนุน ทั้งการมีความรู้สึกไว้ใจ และเป็นมิตรกับผู้ฝึกสอน หรือผู้บังคับบัญชา ตลอดจนหากมีข้อผิดพลาด ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดร่วมกันช่วยแก้ไขปัญหา และในที่สุดจะเกิดการพัฒนาในระบบราชการไทยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป

ที่มา: สยามรัฐ, 4/3/2564

การบินไทยออกเกณฑ์การประเมินพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่จะปฏิบัติการบินตามโครงสร้างใหม่ของบริษัท หลังจากเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ

มีรายงานข่าวว่า การบินไทย มีประกาศสายปฏิการ เรื่อง เกณฑ์การประเมินและพิจารณาพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่จะปฏิบัติการบินตามโครงสร้างใหม่ของบริษัท หลังจาก เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ ลดจำนวนผู้บริหารลงจาก 740 อัตรา เหลือประมาณ 500 อัตรา เออร์ลี่รอบ 2 ตั้งเป้าลดคน 4-6 พันคน

โดยประกาศฉบับดังกล่าว ลงชื่อโดย นายอนิรุต แสงฤทธิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 1 มี.ค. 2564 ซึ่งระบุว่า บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องปรับลดจำนวนพนักงานลงบางส่วน รวมถึงจำนวนพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณงานที่มีตามแผนฟื้นฟูกิจการ

ดังนั้น เพื่อให้การประเมินและการพิจารณาพนักงานต้อนรับฯ เป็นไปด้วยความธรรม ฝ่ายบริการบนเครื่องบิน ได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินและพิจารณาพนักงานต้อนรับฯ ที่จะปฏิบัติหน้าที่การบินตามโครงสร้างใหม่ของบริษัทฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เกณฑ์การประเมินและพิจารณาพนัก งานต้อนรับฯ ได้ผ่านการพิจารณาและอนุมัติจากที่ประชุมคณะทำแผนฟื้นฟูกิจการครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2564 แล้ว โดยเกณฑ์การประเมินและพิจารณาพนัก งานต้อนรับ มีรายละเอียดตามประกาศแนบ นอกจากเกณฑ์การประเมินดังกล่าวข้างต้น ยังมีเกณฑ์ที่ใช้พิจารณา เพิ่มเติมคือ พนักงานต้อนรับฯต้องมีอายุไม่เกิน 55 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 พ.ค. 2564 (ยกเว้นผู้จัดการเที่ยวบิน) ค่าดัชนีมวลกาย BMI ต้องอยู่ในมาตรฐานที่บริษัทฯ กำหนด คือ ชายไม่เกิน 27.5 หญิงไม่เกิน 25

ที่มา: ข่าวสด, 3/3/2564

ก.แรงงาน เตือนช่างอย่าลืมต่อหนังสือรับรองก่อนหมดอายุ 30 วัน คาดเข้าข่าย 1.2 หมื่นคน

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ช่างเชื่อมแม็ก และช่างเชื่อมทิก ต้องผ่านการประเมินและได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ลดอุบัติเหตุต่างๆต่อสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันมีช่างที่ผ่านการประเมินจำนวน 148,078 คน โดยได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถเป็นระยะเวลา 5 ปี

สำหรับ พ.ร.บ.ดังกล่าว มีผลบังคับให้ช่างฝีมือเข้ารับการประเมินตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2559 ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไปจะมีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถของช่างประมาณ 12,000 คนหมดอายุลง ในเรื่องนี้กระทรวงแรงงานโดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน ให้ความสำคัญและมีความห่วงใย

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ กพร.ประชาสัมพันธ์เชิงรุก ให้ช่างฝีมือเข้ารับการประเมินใหม่ก่อนหนังสือรับรองหมดอายุ ซึ่งที่ผ่านมาช่างต้องเข้ารับการประเมินก่อนหนังสือรับรองหมดอายุ 60 วัน แต่ในปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้ปรับเปลี่ยนลดเหลือเพียง 30 วัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ช่างฝีมือ โดยดำเนินการได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน(สพร.) สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถของภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองจาก กพร. ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินเดิมคือ ต้องได้อย่างน้อย 85 คะแนน จาก 100 คะแนน โดยพิจารณาจากผลผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประสบการณ์ด้านการประกอบอาชีพหรือการฝึกอบรม คุณลักษณะส่วนบุคคลที่แสดงถึงศักยภาพในการประกอบอาชีพหรือการทำงาน

โดยเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้เข้ารับการประเมินใหม่ประกอบด้วย แบบคำขอ (แบบ คร.10) ดาวน์โหลดได้ที่ www.dsd.go.th/oloc บัตรประชาชน หนังสือรับรองความรู้ความสามารถ (ฉบับเดิม) บัตรประจำตัวผู้ได้รับหนังสือความรู้ความสามารถ (ฉบับเดิม) รูปถ่ายขนาด 1x1.5 นิ้ว จำนวน 2 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานรับรองความรู้ความสามารถ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 0 2245 1703 และ www.dsd.go.th/oloc หรือ

www.facebook.com/oloc.dsd1

ส่วนช่างที่ยังไม่เคยเข้ารับการประเมินขอให้รีบติดต่อเข้ารับการประเมินโดยด่วน เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องและถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในปีนี้ กพร.ตั้งเป้ามีช่างหน้าใหม่เข้ารับการประเมินประมาณ 14,000 คน

ที่มา: สยามรัฐ, 3/3/2564

‘ครม.’ มีมติ ‘ชะลอ’ ขยายเกษียณอายุราชการ เหตุงบมีจำกัด ชี้ค่อยว่ากันหลังโควิด

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าเนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 มีสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ.2573 ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องมีแผนรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งในส่วนของข้าราชการพลเรือน ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารบุคลากรภาครัฐ ได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการขยายอายุเกษียณราชการ ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม มาระยะหนึ่งแล้ว โดยกำหนดสาระสำคัญให้การขยายอายุเกษียณราชการเป็นมาตรการเพื่อรองรับสังคมสูงวัย และสนับสนุนให้บุคลากรภาครัฐมีงานทำหลังเกษียณ รวมถึงการบริหารกำลังคนภาครัฐในช่วงวัยต่างๆ อย่างเหมาะสม ซึ่งแนวทางหนึ่งคือ การศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี โดยไม่ครอบคลุมหน่วยงานที่ต้องใช้ศักยภาพทางร่างกาย

น.ส.รัชดา กล่าวว่าสำนักงาน ก.พ. ได้รับรายงานและข้อเสนอแนะ เรื่อง การจ้างข้าราชการภายหลังเกษียณอายุ 60 ปี เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา โดยทาง สำนักงาน ก.พ. ได้จัดให้มีการประชุมพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีข้อสรุปดังนี้

1.เห็นด้วยกับการชะลอการขยายเกษียณอายุราชการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม (จากเกษียณอายุ 60ปี เป็น 63 ปี) เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมรวมถึงระบบการคลังและงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งควรใช้จ่ายงบประมาณที่มีจำกัดเพื่อให้เกิดการจ้างงานกลุ่มเปราะบางก่อนเป็นอันดับแรก และเมื่อสามารถจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้แล้ว จึงนำกลับมาพิจารณาใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป

2.เห็นด้วยกับการจ้างงานเพื่อใช้ศักยภาพข้าราชการเกษียณ ที่เสนอให้มีการกำหนดทางเลือกที่หลากหลายในการจ้างงานข้าราชการที่เกษียณอายุราชกา รควบคู่ไปกับมาตรการขยายอายุเกษียณ ทั้งนี้ ให้พิจารณาตามความจำเป็นและความต้องการบุคลากรในแต่ละตำแหน่งสาขา เช่น ตำแหน่งที่ขาดแคลนกำลังคน ตำแหน่งที่ต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และให้พิจารณาจ้างข้าราชการเกษียณอายุในรูปแบบอื่นๆ เช่น การจ้างเหมาบริการ การรับงานไปทำที่บ้าน เป็นต้น

3.เห็นด้วยกับการศึกษาเพื่อปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญของข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ได้มีการเตรียมความพร้อมและวิเคราะห์ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง และจะได้มีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลและแนวทางการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดรับกันต่อไป

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกฯ ได้เน้นย้ำความสำคัญของการบริหารบุคลากรภาครัฐในภาพรวม ซึ่งต้องพิจารณาดำเนินการในหลายมิติควบคู่กันไปทั้งการลดกำลังคน การส่งเสริมบุคลากรคนรุ่นใหม่ การจ้างงานข้าราชการเกษียณที่มีศักยภาพในตำแหน่งขาดแคลน และการเตรียมรับสังคมสูงวัย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 2/3/2564

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือเสนอรัฐเร่งแก้ไขปัญหาแรงงานต่างชาติ หลังหลายอุตสาหกรรมยังขาดแคลนแรงงาน เร่งประกาศรับสมัครแรงงานจำนวนมาก

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. ยังคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตระหว่าง 3% ถึง 4% โดยการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และจากปัจจัยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของคู่ค้า รวมไปถึงการมีวัคซีนส่งผลให้การส่งออกไทยแนวโน้มดีขึ้น ดังนั้น ปัญหาของผู้ส่งออกที่กังวลในตอนนี้คือปัญหาการขาดแรงงานที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวจข้องเข้ามาดูแล แก้ไขในเรื่องนี้

“หลายโรงงานได้ประกาศรับสมัครงานเนื่องจากขาดแรงงานต่างด้าว จากที่มีการย้ายกลับประเทศซึ่งปัจจุบันหลายโรงงานก็ยังไม่กล้ารับกลับเข้ามา จากปัญหาโควิด-19 และปัญหาการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านกระทบให้แรงงานยังไม่กลับเข้ามา ทำให้ขาดแรงงานในหลายอุตสาหกรรม จำนวนแรงงานที่ขึ้นทะเบียนเดิมอยู่ที่ 2 แสนรายปัจจุบันอยู่ที่ 7 แสนราย หากจะดูว่าขาดแรงงานเท่าไรยังประเมินลำบาก แต่กลุ่มที่ต้องการแรงงานมากสุด เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เกษตรและอาหาร ส่วนแรงงานฝีมือ เช่น อิเล็กทรอนิกส์”

อย่างไรก็ดี ปัญหาแรงงานจึงเป็นสิ่งที่กังวลเนื่องจากมีผลต่อการผลิต การส่งออกสินค้าไปในอนาคต ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น ปัญหาโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ต่อไปอย่างน้อยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 จากปริมาณตู้สินค้าตกค้างที่ท่าเรือปลายทางทั้ง ยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย สวนทางกับความต้องการนำเข้าสินค้าที่มากขึ้น เช่น การบริโภคของสหรัฐประจำเดือนมกราคมในส่วนการค้าปลีกเติบโตขึ้นถึง 5.3% อัตราค่าระวางเรือปรับเพิ่มสูงขึ้น ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง แนวโน้มการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวของภาคอุตสาหกรรม ที่จะส่งกระทบต่อมูลค่าการส่งออกได้ในอนาคต

สำหรับปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อการส่งออก เช่น เศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรป ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกลับมาสู่ขาขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อการส่งออกกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป และ ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในหลายประเทศ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกเดือนมกราคม 2564 มีมูลค่า 19,706 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 0.35% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้าในเดือนมกราคม 2564 มีมูลค่า 19,908 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -5.24% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ เดือนมกราคม 2564 ประเทศไทยขาดดุลการค้า -202.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับการส่งออกในกลุ่มสินค้า เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวที่ 3.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย สินค้าที่ขยายตัวได้ดีอยู่ คือ น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง ยางพารา แต่สินค้ากลุ่มที่หดตัวคือ น้ำตาลทราย ข้าว ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป

ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวที่ 0.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย กลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ ถุงมือยาง รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ยางรถยนต์

ขณะที่สินค้ากลุ่มที่หดตัว อาทิ ทองคำ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน

อย่างไรก็ดี สรท.ยังมีข้อเสนอแนะที่สำคัญให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลและแก้ไขเพื่อดันการส่งออกของไทยให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย คือ

1) ขอให้ผ่อนปรนมาตรการต่ออายุการแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย ให้สามารถทำงานต่อเนื่องในปี 2564 เพื่อให้มีแรงงานเพียงพอต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง

2) เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน โดยภาครัฐต้องให้การสนับสนุนให้ผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรให้มีความสามารถในการชำระค่าระวางเรือในอัตราที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจาก Demand ตู้สินค้ามากกว่า Supply ทำให้ราคาค่าระวางในแต่ละเส้นทางเดินเรือปรับตัวสูงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการและสามารถจ่ายค่าระวางได้มากขึ้น ขอให้ภาครัฐเช่าเรือและสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เปล่าที่ตกค้างในต่างประเทศกลับมาให้ผู้ส่งออกไทย และภาครัฐต้องให้การสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมบริการซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ภายในประเทศ จะช่วยเพิ่มปริมาณตู้หมุนเวียนเข้ามาในประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น

3) ทิศทางค่าเงินบาทแข็งมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มส่งสัญญาณอ่อนค่า ธปท. ต้องเร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและใช้มาตรการทางการเงินเพื่อลดความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมการส่งออก

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 2/3/2564

กทม.เริ่มฉีดวัคซีน COVID-19 วันแรกให้บุคคลากรทางการแพทย์

1 มี.ค.2564 ที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ซึ่งเป็นวันแรกของพื้นที่ืี่กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยแก่ประชาชน หลังรัฐบาลได้จัดสรรวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของบริษัท Sinovac ให้กรุงเทพฯ เบื้องต้นจำนวน 66,000 โดส

สำหรับผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่เข้ารับการฉีดวัคซีนในวันนี้ ประกอบด้วย 1.พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร 2. นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสานักการแพทย์ 3. นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ และ 4. นพ.ศุภรัช สุวัฒนพิมพ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 โรงพยาบาลที่จะฉีดวัคซีนพร้อมกัน คือ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตบางแค และ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ เขตหนองแขม รวมทั้งหมด 130 คน โดยสัปดาห์แรกจะฉีดเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กทม.ได้รับจัดสรรวัคซีน COVID-19 ของ Sinovac ในล็อตแรก 66,000 โดส โดยจะฉีดให้กับบุคลากรสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ด่านหน้า 12,400 โดส เจ้าหน้าที่สัมผัสผู้ป่วย 1,600 โดส ผู้มีโรคประจำตัว 47,000 โดส และประชาชนทั่วไป/แรงงานต่างด้าว 5,000 โดส โดยจะแบ่งรอบการฉีดวัคซีน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย

จากการสอบถามถึงความสมัครใจของ บุคคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ในการควบคุม COVID-19 ของกรุงเทพฯ ที่ยินยอมเข้ารับวัคซีน COVID-19 ครั้งนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า เกือบทั้งหมดต้องการฉีดวัคซีน เบื้องต้นมี 6,200 คน ส่วนระยะต่อไปจะขยายการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร และ รพ.เอกชน 16 แห่ง

ที่มา: Thai PBS, 1/3/2564

สหภาพการบินไทยฯ ร้องข้อบังคับใหม่ วันลา-วันหยุดลดลง ไม่เป็นไปตาม กม. ไม่เป็นคุณกับพนักงาน

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 นายนเรศ ผึ้งแย้ม ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท.สพ.) เปิดเผยว่าเป้าหมายการยื่นหนังสือต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานคือ ทางบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ และจะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานใหม่ ทางบริษัทก็มีหลักเกณฑ์ในการสมัครใจว่าใครจะอยู่ในภายใต้ข้อบังคับฯใหม่ โดยให้พนักงานเซ็นยินยอมเพื่อที่จะสละสิทธิสัญญาการจ้างงานเดิม

นายนเรศกล่าวว่า แต่ที่มาร้องเรียนคือข้อบังคับฯใหม่มีการลดจำนวนวันหยุดประเพณี วันลาพักร้อน ที่บริษัทมายื่นจดกับกรม เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2563 โดยพนักงานที่ทำงานมา 20-30 ปี จำนวนวันลา ทั้งวันหยุดทางประเพณี แต่เดิมจาก 17 วัน เหลือ 13 วัน วันลาพักร้อน แต่เดิมจาก 24 วัน เหลือ 6 วัน อ้างว่า พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 หมดสภาพบังคับใช้ไปเมื่อ 22 พ.ค.2563

นายนเรศกล่าวอีกว่า ข้อบังคับฯใหม่รายละเอียดไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ซึ่งตามขั้นตอนตามกฎหมายต้องมีการพูดคุยเจรจากับพนักงานด้วย สำหรับข้อบังคับที่นายจ้างสามารถประกาศได้เลยคือตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 โดยต้องเป็นคุณกับพนักงานยิ่งกว่า แต่ข้อบังคับฯใหม่ไม่เป็นคุณกับพนักงาน

นายนเรศกล่าวว่า ต่อมาบริษัทมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ และให้พนักงานเลือกสภาพการจ้างงานใหม่ จึงอยากให้ทางกรมเข้าไปตรวจสอบว่าไม่มีการบังคับขู่เข็ญต่อพนักงาน โดยทางบริษัทได้มีการบอกว่า ถ้าไม่เลือกสภาพการจ้างงานใหม่ จะถูกย้ายไปยังคอร์สเซ็นเตอร์ ซึ่งมีความหมายว่า อาจจะถูกแขวนตำแหน่งไว้ และอาจนำไปสู่การถูกเลิกจ้างงานได้

“ดั้งนั้น จึงอยากให้มีการสมัครใจย้ายสภาพการจ้างใหม่อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ทางกรมจะเชิญทางฝ่ายบริหารของบริษัท และสหภาพแรงงานฯ เข้ามาพูดคุยเจรจา เพื่อหาทางออก ก่อนวันที่ 11 มี.ค.2564”

ที่มา: มติชนออนไลน์, 1/3/2564

มติ 'ก.จ.-ก.ท.-ก.อบต.' ไฟเขียว 'เลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ' ให้แก่บุคลากรของ อปท.ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ได้ย้อนหลัง ณ 1 เม.ย. 2563 และ 1 ต.ค. 2563

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2564 พ.จ.อ.ชนินทร์ ราชมณี ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า มติคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.จ.) คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (ก.ท.) และ คณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 64 เห็นชอบแนวทางการเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษให้แก่บุคลากรของ อปท. ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สรุปได้ ดังนี้

1. เป็นบุคลากรของ อปท. (พนักงานส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง) ที่ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขโดยผู้มีอำนาจมีคำสั่งแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ดังกล่าว และได้ปฏิบัติงานจริง

2. การเลื่อนขั้นกรณีพิเศษดังกล่าวให้เลื่อน ณ วันที่ 1 เม.ย. 2563 และ 1 ต.ค. 2563

3. การเลื่อนขั้นกรณีพิเศษดังกล่าวไม่ต้องคำนึงถึงโควต้า (2 ขั้นไม่เกิน 15%) และไม่ต้องคำนึงถึงวงเงินที่ใช้ในการเลื่อน (วงเงิน 6%)

4. การเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษดังกล่าว เมื่อนำไปรวมกับการเลื่อนขั้นปกติที่ได้เลื่อนไปแล้ว แต่ละคนจะต้องไม่เกิน 2 ขั้น

5. การเลื่อนขั้นกรณีพิเศษดังกล่าว เมื่อนำไปรวมกับภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคคลจะต้องไม่เกิน 40% ตามมาตรา 35 ของ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542

สำหรับรายละเอียดการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว สำนักงาน ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. จะได้มีการแจ้งให้ทราบและถือปฏิบัติต่อไป

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 27/2/2564

แรงงานนับหมื่นเตรียมฝึกอบรมความปลอดภัยฟรี ลดสถิติการประสบอันตรายจากการทำงาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคนทุกกลุ่มต้องได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองตามกฎหมาย เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งมีความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินการจัดฝึกอบรมให้แก่หน่วยงานฝึกอบรมที่ได้รับอนุญาตจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นผู้จัดฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานให้แก่ผู้ใช้แรงงานโดยไม่เรียกเก็บค่าบริการ ระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม 2564 หลักสูตรความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตามกฎหมาย ซึ่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รับผิดชอบดำเนินการภายใต้แนวคิดชื่อ “ฝึกฟรี มีทักษะ ชนะอุบัติภัย ใส่ใจแรงงาน”

สำหรับหลักสูตรดังกล่าว ได้แก่ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหาร ระดับหัวหน้างาน ระดับเทคนิค คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน การทำงานในที่อับอากาศ ดับเพลิงขั้นต้น ฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ เป็นต้น ซึ่งมีหน่วยงานฝึกอบรมสมัครเข้าร่วมแคมเปญ จำนวน 207 หน่วยงาน แบ่งเป็น หน่วยงานภาคเอกชน จำนวน 70 หน่วยงาน และหน่วยงานภาคราชการ จำนวน 137 หน่วยงาน อบรมให้แก่ผู้ใช้แรงงาน จำนวน 15,007 คน โดยไม่เรียกเก็บค่าบริการ สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการอบรมหลักสูตรตามที่กฎหมายกำหนด จำนวน 17,597,500 บาท

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า จากรายงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานถึงความคืบหน้าการจัดฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานให้แก่ผู้ใช้แรงงานปรากฎว่า ณ วันที่ 26 ก.พ. 2564 มีหน่วยฝึกอบรมดำเนินการจัดฝึกอบรมแล้ว จำนวน 36 หน่วยงาน ประกอบด้วย หน่วยงานภาคเอกชน จำนวน 14 หน่วยงาน และหน่วยงานภาคราชการ จำนวน 22 หน่วยงานให้แก่ผู้ใช้แรงงาน จำนวน 2,880 คน โดยไม่เรียกเก็บค่าบริการ สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการอบรมหลักสูตรตามกฎหมายกำหนด จำนวน 611,000 บาท

นายรุจน์ เฉลยไตร เครือข่ายชมรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานพระนคร ร่วมกับบริษัท เพอร์เฟค เซฟตี้เทรนนิ่ง แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด เป็นหน่วยฝึกอบรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการอบรม หลักสูตร “เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน และระดับบริหาร เห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งทางบริษัทฯ ยินดีที่จะร่วมโครงการฯ โดยไม่คิดค่าบริการ เพื่อร่วมกันลดสถิติการประสบอันตรายจากการทำงาน และเพื่อสร้างการรับรู้มาตรการเชิงป้องกันความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งโครงการนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้แรงงาน

ด้าน นายไชยา ใจบำรุง รองผู้จัดการบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกหาดใหญ่ ในนามตัวแทนผู้บริหารของสถานประกอบกิจการในจังหวัดสงขลา จำนวน 30 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการฯ หลักสูตร “ความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ” รุ่นที่ 1 สำหรับผู้อนุญาต กล่าวว่า เห็นด้วยกับการจัดโครงการฯ ฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงาน ให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ต้องขอขอบคุณรัฐบาล กระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และบริษัท เซ้าเทอร์น เซฟตี้ จำกัด ที่เล็งเห็นความสำคัญของงานด้านความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ซึ่งแต่ละปีมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

อีกทั้งบริษัทฯ จัดฝึกอบรมยังสละเวลาพร้อมทรัพยากรอันมีค่าต่างๆ ที่ใช้สำหรับฝึกอบรมโดยไม่คิดค่าบริการ และถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับสถานประกอบกิจการที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้ ผมหวังว่ากระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะมีโครงการดี ๆ ในรูปแบบนี้อีกในปีต่อ ๆ ไป

ขณะที่ นายธนยศ สว่างไสว พนักงาน บริษัท รักษาความปลอดภัย ดีเอสเอส จำกัด ในนามตัวแทนผู้เข้าฝึกอบรมหลักสูตร “การอบรมดับเพลิงขั้นต้น” และหลักสูตร “การฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ” กล่าวว่า ขอขอบคุณ รัฐบาลกระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และห้างหุ้นส่วนจำกัด เอที เซล เซอร์วิส แอนด์ เทรนนิ่ง ที่ร่วมกันจัดฝึกอบรม ฟรี แก่ผู้ใช้แรงงาน เพื่อนำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมไปใช้ในการป้องกันและระงับอัคคีภัยกรณีที่เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการ ผู้ใช้แรงงานไม่บาดเจ็บและเสียชีวิต ทรัพย์สินของสถานประกอบกิจการไม่เสียหาย ทั้งนี้ ผมในนามตัวแทน ผู้เข้าฝึกอบรมขอสัญญาว่า จะนำความรู้ที่ได้จากท่านวิทยากรไปใช้ในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความปลอดภัยในการทำงานให้กับสถานประกอบกิจการของตนเองต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาล และกระทรวงแรงงาน จะจัดโครงการฝึกอบรมที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ให้แก่ผู้ใช้แรงงานในปีต่อไปอีก

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 27/2/2564

การบินไทยเปิดแผนลดสิทธิพนักงาน ลดวันลาพักร้อน-โอที 50% บังคับใช้ 1 พ.ค. 2564 นี้

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าปัจจุบันการบินไทยได้ทำการปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท โดยออกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานใหม่ เพื่อบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2564 ขณะเดียวกันการบินไทย ได้มีการปรับเกณฑ์การกำหนดจำนวนวันหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับพนักงานที่มีอายุงานครบ 1 ปี ขึ้นไป โดยใช้เกณฑ์อายุงานในการพิจารณาสิทธิการหยุดพักผ่อนประจำปีกับพนักงานทุกระดับ จากเดิม ที่มีการยกเว้นให้สิทธิพิเศษสำหรับผู้บริหารระดับ VP, MD สามารถลาหยุดพักผ่อนได้มากที่สุดคือ จำนวน 28 วันทำการ โดยไม่ต้องพิจารณาจากอายุงาน ขณะที่เกณฑ์ให้พนักงานทุกระดับต้องมีจำนวนวันลาหยุดตามอายุงานเหมือนกันทั้งหมด

สำหรับจำนวนวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามระเบียบใหม่นั้น ได้มีการปรับลดจำนวนวันหยุด ตามอายุการทำงาน ดังนี้ 1. อายุงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ปรับลดจาก 24 วัน เหลือ 15 วัน 2.อายุงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 20 ปี ปรับลดจาก 21 วัน เหลือ 10 วัน 3.อายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ปี ปรับลดจาก 18 วันเหลือ 8 วัน และ 4. อายุงานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 5 ปี ปรับลดจาก 12 วัน เหลือ 6 วันรายงานข่าวจากการบินไทย กล่าวต่อว่า ส่วนค่าล่วงเวลาหรือ โอที นั้นบริษัท ได้มีการปรับเกณฑ์ใหม่เช่นกัน โดยจะเปลี่ยนมาคำนวณจากอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง แทนรูปแบบเดิมที่คำนวณจาก อัตราเงินเดือนค่าจ้าง/ชั่วโมง โดยอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง จะคำนวณจากอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง หารด้วย 240(จำนวนชั่วโมงการทำงานในแต่ละวัน 8 ชั่วโมง คูณ ด้วยจำนวนวันใน 1 เดือน) ปรับเปลี่ยนจากเดิมที่คำนวณจาก อัตราเงินเดือนค่าจ้าง/ชั่วโมง หารด้วย 173 ซึ่งจะเห็นว่าจำนวนของตัวหารเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราค่าล่วงเวลาที่คิดโดยใช้เกณฑ์ใหม่ปรับลดลงจากเดิม 50%

สำหรับประเภทของการจ่ายค่าล่วงเวลา ดังนี้ 1.ค่าล่วงเวลาในวันทำการปกติ จ่าย 1.5 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง 2.ค่าทำงานวันหยุด จ่าย เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีก 1 เท่าของอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง จากเดิมจ่าย 2 เท่าของอัตราเงินเดือนค่าจ้างต่อชั่วโมง3.ค่าทำงานล่วงเวลาวันหยุด จ่ายอัตรา 3 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง จากเดิมจ่ายไม่น้อยกว่า 3 เท่า ของอัตราเงินเดือนค่าจ้างต่อชั่วโมง ส่วนการเกษียณอายุของพนักงานนั้น ให้มีผลเมื่อพนักงานมีอายุครบ 60 ปี ส่วนวันที่เกษียณอายุนั้นปรับเปลี่ยนให้มีผล ในวันแรกของเดือนถัดจากเดือนที่พนักงานมีอายุครบ 60 ปี จากเดิม ให้มีผลวันที่ 30 ก.ย.ของทุกปี อย่างไรก็ตามการปรับลดวันลาพักร้อนและการปรับลดจำนวนค่าทำงานล่วงเวลา นั้น เป็นการปรับตามที่ บริษัท ได้เปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชน ทำให้บริษัทและพนักงานอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แทนพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 26/2/2564

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net