Skip to main content
sharethis

รัฐจับตาแรงงาน 3.9 หมื่นตกงาน หลังบริษัทผลิตรถสันดาปยอดดิ่ง สู้ตลาด EV ไม่ไหว

นางสุวรรณา ขันติวิศิษฎ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ในวันนี้เวลา 15.00 น. ได้นัดตัวแทนฝ่ายนายจ้างโรงงานผลิตหลอดไฟฟ้าแอลอีดีรายหนึ่ง ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิติ้ ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ให้เดินทางมาเจรจาและให้ข้อเท็จจริงจากทางฝ่ายนายจ้าง หลังจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (สร.) จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับคำร้องเรียนจากลูกจ้างของสถานประกอบการแห่งนี้ จำนวน 98 คน จาก 104 คน ที่ถูกบอกเลิกจ้างงาน

แต่ยังไม่ได้รับค่าตอบแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยจากการบอกเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งที่หลังการบอกเลิกจ้างอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 30 เม.ย.67 ที่ผ่านมา ตามที่ฝ่ายนายจ้างได้ตกลงว่าจะจ่ายเงินตามมาตรา 75 ซึ่งเป็นค่าทดแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยในวันที่ 30 พ.ค.67 แต่เมื่อถึงวันกำหนดนัดแล้ว ฝ่ายนายจ้างยังไม่จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ฝ่ายลูกจ้าง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,570,059 บาท

จึงทำให้ฝ่ายลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน ไม่มีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมถึงค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าผ่อนสินค้าและยานพาหนะ ได้พากันเริ่มทยอยเข้ามาพบพนักงานตรวจแรงงานยังที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อยื่นคำร้องทุกข์ (คร.7) เมื่อวันที่ 31 พ.ค.67 จำนวน 47 คน และได้มีแรงงานทยอยยื่นคำร้องทุกข์อย่างต่อเนื่องผ่านทั้งทางระบบออนไลน์และทาง สร.ในต่างจังหวัดตามภูมิลำเนา เช่น บุรีรัมย์ นครราชสีมา ทั้งยังเข้ามายื่น คร.7 ด้วยตนเองที่ สร.ฉะเชิงเทราเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก รวมขณะนี้ 98 คนแล้วในวันนี้

ที่ผ่านมา สร.ฉะเชิงเทรา ได้ออกหนังสือเชิญพบนายจ้างให้เดินทางมาในวันนี้ (7 มิ.ย.67) เวลา 15.00 น. แต่ปรากฏว่าฝ่ายนายจ้างยังไม่เดินทางมาพบเพื่อให้ข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องทุกข์ โดยที่ฝ่ายนายจ้างได้ขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานตรวจแรงงานไปเป็นวันที่ 13 มิ.ย.67 เวลา 14.00 น. โดยระบุว่า เอกสารเกี่ยวกับแรงงานที่มีจำนวนมากยังไม่พร้อม

“ซึ่งหากฝ่ายนายจ้างยังไม่เดินทางมาพบพนักงานตรวจแรงงานอีก รวม 2 ครั้ง สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ฉะเชิงเทรา จะดำเนินการพิจารณาออกคำสั่งแต่เพียงฝ่ายเดียว ให้ฝ่ายนายจ้างต้องจ่ายเงินตามมาตรา 75 และค่าชดเชยให้แก่ฝ่ายลูกจ้างตามจำนวนเงินดังกล่าวทั้งหมดต่อไป” นางสุวรรณากล่าว

นางสุวรรณายังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา กำลังจะมีกลุ่มแรงงานที่เข้าข่ายเปราะบางและมีโอกาสเสี่ยงที่อาจจะถูกเลิกจ้างได้ในอนาคตอีก ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมออโตโมทีฟ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งมีจำนวนมากถึงกว่า 39,321 คนจากสถานประกอบการ 137 แห่ง โดยเป็นแรงงานชาย 23,906 คน เป็นแรงงานหญิง 15,415 คน เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ระบบเครื่องยนต์สันดาปภายในมีการเติบโตลดลงและหยุดชะงัก โดยคนในสังคมส่วนใหญ่เริ่มหันไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นแล้ว

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวยังได้รับการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ฉะเชิงเทรา อีกว่า สำหรับสถานประกอบการที่ได้มีการบอกเลิกจ้างแรงงาน จำนวน 104 คนในครั้งนี้ เป็นสถานประกอบการของนักลงทุนชาวจีนที่ถือหุ้นร่วมกับคนไทย มีพนักงานทั้งหมด จำนวน 224 คน เป็นแรงงานชาย 67 คน หญิง 157 คน โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

ได้เข้ามาก่อตั้งโรงงานในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด พนักงานส่วนใหญ่จึงมีอายุงานไม่มากนัก เฉลี่ยเพียงประมาณ 2-3 ปีเท่านั้น โดยสาเหตุของการบอกเลิกจ้างแรงงานนั้นเกิดจากการขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงได้ปรับลดอัตรากำลังพนักงานลงอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง นับตั้งแต่เมื่อเดือน ม.ค.67 ที่ผ่านมาจนถึงเดือน พ.ค.67 นี้

ที่มา: มติชนออนไลน์, 8/6/2567

รับสังคมสูงวัย ‘คลัง’ งัด ‘หวยเกษียณ’ ดึง 20 ล้านคน ออมเพิ่ม

ปัจจุบันสังคมไทยกำลังมีปัญหาประชาชนเข้าสู่วัยเกษียณ แต่ไร้เงินเก็บ ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะรุนแรงขึ้นด้วยการเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และเป็นภาระงบประมาณในการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุที่นับวันก็จะยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในที่สุดแล้ว การที่จะพึ่งพาเพียงแค่ระบบงบประมาณก็อาจจะไม่มีทางรับไหว

ในปี 2567 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบ โดยปี 2566 ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ไทยมีประชากรผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 13 ล้านคน ของประชากรไทยทั้งประเทศ 66 ล้านคน

ปัญหาการจัดสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ หรือให้ผู้สูงอายุมีเงินออมรองรับวัยเกษียณจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีนโยบายรองรับ ทั้งนี้ปัจจุบันสวัสดิการที่ภาครัฐจัดสรรให้กับผู้เกษียณอายุ คือ เงินผู้สูงอายุที่จ่ายให้แบบขั้นบันได โดยรายจ่ายในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุในแต่ละปีงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่สูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลมีอัตราการจ่ายเบี้ยยังชีพสำหรับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปคนละ 600-1,000 บาทต่อเดือน

ในขณะที่งบประมาณสำหรับจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 82,341 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 10.9 ล้านคน, ปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 86,000 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 11.2 ล้านคน และปีงบประมาณ 2567 ตั้งงบประมาณ 90,000 ล้านบาท

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง กำลังพิจารณานโยบาย “สลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ” หรือ “หวยเกษียณ” ถือเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายที่รวมลักษณะการชอบเสี่ยงดวงของคนไทยมาเป็นแรงจูงใจในการออม โดยจะออกรางวัลทุกสัปดาห์ ส่วนสลากที่ไม่ถูกรางวัลจะเก็บสะสมเป็นเงินออม ซึ่งจะไม่สามารถถอนเงินที่ซื้อสลากทั้งหมดออกมาได้ จนกว่าจะอายุครบ 60 ปี

ทั้งนี้ สลากเกษียณจะออกโดยกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นรูปแบบสลากชุดในรูปแบบดิจิทัล โดยที่ไม่ต้องเลือกเลข ซึ่งจะมีการจำหน่ายในราคาใบละ 50 บาท โดยกำหนดให้ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อเดือน และเปิดให้ซื้อผ่านแอปพลิเคชัน กอช.

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า โดยการดำเนินงานในระยะแรกจะขายให้กับ 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก 20 ล้านคน ประกอบด้วย 1.สมาชิก กอช. 2.ผู้ประกันตนมาตรา 40 และ 3.แรงงานนอกระบบ โดยอาจะมีกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมภายหลัง ทั้งนี้ กอช. จะทำงานร่วมกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อออกแบบระบบ

อย่างไรก็ตาม สำหรับสมาชิก กอช.ซื้อสลากได้ทุกวัน และออกรางวัลทุกวันศุกร์เวลา 17.00 น. รางวัลที่ 1 จำนวน 1 ล้านบาท และรางวัลที่ 2 จำนวน 1,000 บาท รวม 10,000 รางวัล

โดยผู้ถูกรางวัลจะได้เงินรางวัลที่เบิกเงินสดมาใช้ได้ทันที ส่วนเงินค่าซื้อสลากจะถูกเก็บไว้เป็นเงินออมในบัญชี กอช.ของผู้ซื้อสลาก แม้ว่าจะถูกรางวัลหรือไม่ก็ตาม โดย กอช.จะบริหารจัดการเงินจำนวนดังกล่าว และเมื่อผู้ซื้อสลากอายุครบ 60 ปี จะถอนเงินทั้งหมดที่ซื้อสลากทั้งชีวิตออกมาได้

ทั้งนี้ เงินรางวัลจะเป็นการใช้เงินงบประมาณสัปดาห์ละ 15 ล้านบาท หรือปีละ 780 ล้านบาท ซึ่งจำนวนดังกล่าวถือว่ามีจำนวนน้อยกว่างบประมาณสำหรับนโยบายการให้เบี้ยคนชรามาก

นายเผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า นโยบายนี้จะช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาคนไทยแก่แต่จน แก่แต่ไม่มีเงินเก็บ เพราะการออมภาคสมัครใจในปัจจุบันไม่ได้ผล เนื่องจากไม่มีแรงจูงใจที่เพียงพอ ต้องอาศัยกลไกการออมที่ผูกกับแรงจูงใจ

อย่างไรก็ตาม ในการซื้อสลากเกษียณ จะเป็นการซื้อหวยถูกกฎหมาย อีกทั้งเงินก็ไม่หายไปไหน กลายเป็นเงินออมยามเกษียณ และเมื่อถูกรางวัลก็จะได้รับเงินทันที หากไม่ถูกรางวัลเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ซื้อสลากก็จะเก็บเป็นเงินออมยามเกษียณ ดังนั้น ยิ่งซื้อมากยิ่งลุ้นมาก และมีเงินออมมากขึ้น

“นโยบายนี้เป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงเลือกตั้ง และแจ้งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้วตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวยังอยู่ระหว่างขัดเกลารายละเอียด และรับฟังความคิดเห็น ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ราว 6 เดือน ถึง 1 ปี จึงไม่เกิดขึ้นเร็วแน่นอน แต่จะพยายามเร่งรัดเร็วที่สุด” นายเผ่าภูมิ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กอช.มีสมาชิก 3 ล้านราย โดยตั้งเป้าว่านโยบายสลากเกษียณจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมาออมเงินเพิ่มเติมมากขึ้น และทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 16-17 ล้านราย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 7/6/2567

ชงขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติเถื่อน ต่ออายุ 2 ล้านคน และให้ขายของได้

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 2/2567 โดยมีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้บริหารกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

นายพิพัฒน์เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งและสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ทำให้เกิดการลักลอบเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยทางพรมแดนธรรมชาติ ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ ประกอบกับแรงงานข้ามชาติบางส่วน ซึ่งเคยได้รับอนุญาตทำงานถูกต้องกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย เนื่องจากดำเนินการขออนุญาตทำงานไม่ครบขั้นตอน เปลี่ยนนายจ้างไม่ทันภายในเวลาที่กำหนด หรือทำงานครบวาระการจ้างงานตาม MOU แต่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้

เพื่อมิให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน กระทบต่อการขับเคลื่อนกิจการของนายจ้าง สถานประกอบการ และเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 2/2567 จึงพิจารณาเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการเพื่อเตรียมการป้องกันปัญหาตาม 3 วาระ ดังนี้

1. เปิดขึ้นทะเบียนแรงงาน 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) สถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่อยู่ในประเทศไทยและทำงานกับนายจ้างอยู่แล้ว

2. ให้แรงงาน 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่ได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งมีประมาณ 2 ล้านคน ดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานในลักษณะ MOU เพื่อสามารถทำงานเป็นเวลา 2 ปี และต่ออายุได้อีกครั้ง เป็นระยะเวลา 2 ปี

3. ปรับปรุงเงื่อนไขการทำงานของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานตามฤดูกาล (มาตรา 64) โดยเพิ่มท้องที่อนุญาตให้พำนักตามประกาศกระทรวงมหาดไทย และให้ทำงานระหว่างท้องที่ตามความตกลงและท้องที่ที่ได้รับอนุญาตให้พำนักได้ แต่ต้องเดินทางกลับออกไปนอกราชอาณาจักรช่องทางเดียวกับที่เข้ามา

เพิ่มประเภทงานขายของหน้าร้านในจังหวัดที่อยู่ในความตกลงเฉพาะเขตท้องที่อำเภอที่ติดกับชายแดน เพิ่มระยะเวลาขออนุญาตทำงาน จาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน เพื่อรองรับระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรที่มีระยะเวลายาวนานขึ้น

ด้านนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า หลังจากนี้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน จะทยอยเสนอแต่ละวาระต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามลำดับ ลำดับแรกคาดว่าเป็นเรื่องการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงาน 4 สัญชาติ ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 6/5/2024

กระทรวงแรงงาน ตั้งเป้ายุติใช้แรงงานเด็กทุกรูปแบบภายในปี 2568

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำทีมผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ชูฝ่ามือขวาร่วมแคมเปญต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการใช้แรงงานเด็กและร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง พร้อมเชิญชวนนายจ้าง ลูกจ้าง และคนไทยทุกคนโพสต์ภาพ “สัญลักษณ์มือ” ระบุข้อความหรือติด #EndChildLabour 2024 เพื่อร่วมกันแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก

นายพิพัฒน์เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 12 มิถุนายนของทุกปี องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้กำหนดให้เป็น “วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก (World Day Against Child Labour)” เพื่อรณรงค์ให้ประชาคมโลกตระหนักถึงสถานการณ์การใช้แรงงานเด็ก และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กให้หมดสิ้นไป โดยเฉพาะการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด กระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการขจัดการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์แห่งอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการโดยทันที เพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก

และมุ่งสู่เป้าหมาย SDGs ที่ 8.7 ยุติการใช้แรงงานเด็กทุกรูปแบบ ภายในปี 2568 ตามที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ผมจึงขอเชิญชวน นายจ้าง ลูกจ้าง ประชาชน คนไทยทุกคน ร่วมกันแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก โดยถ่ายภาพ “ชูฝ่ามือขวา” พร้อมระบุข้อความ หรือติด #EndChildLabour 2024 และโพสต์ภาพของท่านผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ต่อต้านการแรงงานเด็กให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย

นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2567 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้กำหนดแนวคิดหลักวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก คือ

“มุ่งมั่นร่วมกันยุติการใช้แรงงานเด็ก” Let’s act on our commitments : End Child Labour ! และเนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี ของการประกาศรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย (ค.ศ. 1999) ประเทศไทย กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้กำหนดจัดกิจกรรมรณรงค์วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก ประจำปี 2567 พร้อมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี ของอนุสัญญา ฉบับที่ 182 ในวันพุธที่ 12 มิ.ย. 2567 ระหว่างเวลา 10.00-12.00 น. ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และผ่านระบบ Zoom ภายใต้แนวคิด “มุ่งมั่นร่วมกันยุติการใช้แรงงานเด็ก” Let’s act on our commitments : End Child Labour!

โดยจะได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรแรงงาน นายจ้าง ลูกจ้าง องค์กรพัฒนาเอกชน เด็กและเยาวชน และประชาชนทั่วไป กล่าวแถลงคำมั่นและแสดงสัญลักษณ์รวมพลังยุติการใช้แรงงานเด็กอย่างพร้อมเพรียงกัน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 5/6/2567

บขส. สร้างฝันงานอาชีวะ ปีที่ 9 ปั้นนักศึกษาช่างยานยนต์แบบมืออาชีพ เพิ่มทักษะงานด้านซ่อมบำรุง ป้อนตลาดแรงงาน

นายอรรถวิท รักจำรูญ กรรมการฯ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า บขส. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติต่อไป คณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคม ของบริษัทฯ จึงได้มีนโยบายให้ดำเนินโครงการ “บขส. สร้างฝันงานอาชีวะ” มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้แก่นักศึกษาอาชีวะ ด้านการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ ได้มีสถานที่เรียนรู้และฝึกงานได้อย่างมาตรฐาน เพิ่มทักษะงานด้านซ่อมบำรุง ได้รับประสบการณ์จริงและประกอบอาชีพได้ในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานแผนแม่บทด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

สำหรับในปี 2567 นี้ โครงการ บขส. สร้างฝันงานอาชีวะ ได้รับนักศึกษา สาขาช่างยนต์ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีปทุมธานี จำนวน 6 คน เข้าฝึกงาน ณ ศูนย์ซ่อมบำรุงและตรวจสภาพรถรังสิต อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ระหว่างวันที่ 4 มิถุนายน - 30 กันยายน 2567 ระยะเวลา 4 เดือน โดยระหว่างที่ฝึกงานนักศึกษาฝึกงานจะได้รับทุนการศึกษาจำนวน 6,000 บาทต่อเดือน

นายอรรถวิท กล่าวต่อว่า การฝึกงานครั้งนี้ บขส. จะถ่ายทอดความรู้ให้นักศึกษาสาขาช่างยนต์ เกิดการเสริมสร้างทักษะความชำนาญในการซ่อมบำรุงรถโดยสารขนาดใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง โครงการ บขส. สร้างฝันงานอาชีวะ ปี 2567 ถือว่าได้ดำเนินการเป็นปีที่ 9 แล้ว เริ่มตั้งแต่ปี 2559 - 2567 โดยตลอดระยะเวลา 9 ปี มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการรวมทั้งหมด 54 คน หรือ รุ่นละ 6 คนต่อปี

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 5/6/2567

ห่วงทักษะแรงงานไทยก้าวไม่ทันโลก สภาพัฒน์ ชี้เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจ 3 ล้านล้าน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าภาครัฐมีความพยายามมานานในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยการดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายถือว่าเครื่องมือในการส่งเสริมการลงทุนที่สำคัญเพื่อดึงเอาบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกเข้ามาลงทุนในไทยนอกจากสิทธิประโยชน์ต่างๆยังมีกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งรัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มให้กับกองทุนนี้จากเดิม 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 1.6 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการดึงการลงทุน

นอกจากนั้นตาม พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ออกแบบไว้ ให้มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สามารถกำหนดภาษีบางตัวที่จะดึงเข้ามากองทุนนี้โดยมาจากมาตรการภาษี Global Minimum Tax ตามมาตรฐานของประเทศ OECD ซึ่งก็จะทำให้ไทยมีเงินในกองทุนฯนี้ไว้ประกอบการเจรจาดึงดูดการลงทุน โดยการใช้เงินสนับสนุนจากกองทุนฯนี้เพื่อดึงการลงทุนจะต้องมีการเจรจาแลกเปลี่ยน โดยการลงทุนที่เกิดขึ้นประเทศไทยก็จะต้องได้ผลประโยชน์ทั้งด้านการจ้างงาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และทำให้ห่วงโซ่อุปทานของประเทศไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีความแข็งแรงมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามประเด็นหนึ่งที่ สศช.ให้ความสำคัญคือการพัฒนาทักษะแรงงาน โดยในการแถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 1/2567 สศช.ระบุว่า ประเด็นด้านแรงงานที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ การขาดทักษะของแรงงานไทยที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

โดยผลการสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในประเทศไทย ของธนาคารโลกร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า เยาวชนและกลุ่มวัยแรงงานของไทยจำนวนมากมีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์ โดยมีสัดส่วนของกลุ่มที่มีทักษะการรู้หนังสือและทักษะดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์สูงถึง 64.7% และ 79.1% ตามลำดับสะท้อนว่ากลุ่มเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน ไม่สามารถทำงานด้านการอ่านและการใช้คอมพิวเตอร์ชั้นพื้นฐานได้ดี

โดยทักษะด้านดิจิทัลที่อยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับข้อมูลของ We are social ที่พบว่า ทักษะด้านดิจิทัลของไทยอยู่ในอันดับที่39 จาก 63 ประเทศ ทั้งที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันในระดับสูง ทั้งนี้การขาดทักษะดังกล่าวอาจทำให้ไทยเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาทต่อปี จากผลิตภาพของแรงงานที่ไม่สูงนัก และการใช้นวัตกรรมที่น้อย

ตลอดจนการลงทุนจากต่างชาติที่ลดลง สถานการณ์ดังกล่าวเป็นประเด็นที่นำกังวลโดยเฉพาะเมื่อนำมาประกอบกับปัญหาเด็กเกิดน้อย ซึ่งจะทำให้จำนวนแรงงานที่มีสมรรถนะสูงในอนาคตลดน้อยลง สะท้อนถึงความจำเป็นที่ไทยจะต้องเร่งพัฒนาทักษะให้แก่ประชากรอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถทดแทนกำลังแรงงานที่จะหายไป และสามารถรองรับการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมูลค่าสูงได้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 4/6/2567

ครม.อนุมัติให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับ 144 หารือไตรภาคีมาตรฐานแรงงาน

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้ 1. การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี (มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ) ค.ศ.1976 2. ให้กระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการจัดทำสัตยาบันสารเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ และ 3. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานดำเนินการมอบสัตยาบันสารให้กับผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ในฐานะผู้เก็บรักษาอนุสัญญา โดยมีกำหนดการเดินทางไปมอบสัตยาบันสารให้กับผู้อำนวยการใหญ่ ILO ในระหว่างการประชุมใหญ่ประจำปี ILO สมัยที่ 112 ระหว่างวันที่ 11 – 15 มิ.ย. 2567 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

สำหรับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี (มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ) ค.ศ.1976 เป็นหนึ่งในอนุสัญญาธรรมาภิบาลของ ILO มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้รัฐสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ดำเนินกระบวนการปรึกษาหารือไตรภาคี (ระหว่างตัวแทนของรัฐบาล ตัวแทนของนายจ้าง และตัวแทนของลูกจ้าง) ในประเด็นที่เกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ โดยมีการกำหนดหน้าที่รัฐสมาชิกต้องปฏิบัติและมีการใช้ถ้อยคำที่มุ่งหมายให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยกระบวนการปรึกษาหารือไตรภาคีดังกล่าว ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมการเจรจาทางสังคมในระดับประเทศและการมีส่วนร่วมของผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ทั้งประเด็นด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ปัจจุบันมีรัฐสมาชิก ILO ที่ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 144 แล้ว จำนวน 157 ประเทศ จาก 187 ประเทศ โดยเป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียน จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 4/6/2567

ปลดครั้งใหญ่ ซับคอนแทรกต์ 1 พันชีวิต บริษัทดัง บ่อวิน-ศรีราชา ด้าน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชลบุรี เร่งช่วยเหลือ

จากกรณี เฟซบุ๊ก "นิวส์ชลบุรีระยอง ออนไลน์" โพสต์ข้อความระบุว่า ปลดครั้งใหญ่ ให้พนักงานซับ (ซับคอนแทกต์ หรือแรงงานจ้างเหมา) ได้ทำงานก่อน 1 เดือน ก่อนจะปลดยกบริษัท 1 ก.ค. 2567 ปลดพนักงานซับยกบริษัท 3 พันชีวิต ตกงานทันที ย้ายพนักงานประจำไประยอง โดยสาเหตุมาจากบริษัทดังกล่าวมีคู่แข่งทางการตลาด และปัญหาภายในหลายปัจจัย จึงต้องดำเนินการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เพื่อที่จะให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ในสภาวะในการแข่งขันทางการตลาดสูง

ล่าสุุด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดชลบุรี ระบุว่า บริษัทดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 4 ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ประกอบกิจการผลิตและขายแผงเซลล์แสงอาทิตย์ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า บริษัทฯ ดังกล่าว ได้ว่าจ้างบริษัทรับเหมาแรงงาน (Subcontract) บริษัทประกอบกิจการจัดหาแรงงาน 1 บริษัท และบริษัทรับเหมาแรงงานรายอื่นอีกประมาณ 2 บริษัท

โดยบริษัทฯ ดังกล่าว ได้มีการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต และบางกระบวนการผลิตมีการย้ายฐานการผลิต จึงมีความจำเป็นต้องลดจำนวนลูกจ้างรับเหมาค่าแรงโดยจะส่งตัวลูกจ้างรับเหมาค่าแรง คืนบริษัทรับเหมาแรงงาน ประมาณ 1,000 คน ในช่วงเดือน ก.ค. 2567

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่เป็นที่ต้องการของตลาดสากล จึงมีความจำเป็นต้องปิดโรงงานบางส่วนเป็นการชั่วคราว เนื่องจากต้องมีการรื้อถอนเครื่องจักรเก่าทุกชนิด ดำเนินการปรับปรุงเครื่องจักรให้สอดคล้องสำหรับการติดตั้งเครื่องจักรใหม่และทำการติดตั้งเครื่องจักรใหม่ทั้งหมด จึงมีความจำเป็นต้องคืนพนักงานในส่วนของแผนกการผลิตที่มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร

โดยได้ขอคืนพนักงานกลุ่มแรกกลับสู่ต้นสังกัด ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2567 ดังนั้น ทางบริษัทจึงมีความจำเป็นต้องมีการโยกย้ายพนักงานไปปฏิบัติงานที่สาขาอื่น ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2567 เป็นต้นไป

ที่มา: คมชัดลึก, 3/5/2567 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net