Skip to main content
sharethis

ก.แรงงาน รุกเปิดตลาด ให้แรงงานไทยทำงาน อิตาลีหารือทวิภาคี ไฟเขียวเตรียมเสนอ ครม. เอ็มโอยูต่อไป

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน หารือทวิภาคีกระชับความร่วมมือด้านแรงงาน กับ คุณมาริน่า เอลวิร่า คัลเดโรเน่ รมว.นโยบายด้านแรงงานและสังคมอิตาลี ณ อาคารองค์การสหประชาชาตินครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นการจัดทำเอ็มโอยูเพื่อขยายโอกาสให้แรงงานไทยได้ไปทำงานในอิตาลีในภาคการเกษตร และภาคอื่นๆ ซึ่งมีค่าจ้างสูง และสวัสดิการดี โดยทักษะแรงงานไทยตรงกับความต้องการของนายจ้างอิตาลี และมีความสนใจเดินทางไปทำงานที่อิตาลีอยู่แล้ว การหารือในวันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยผลักดันการขยายตลาด และเพิ่มโอกาสให้แรงงานไทยในการทำงานต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ในส่วนกระทรวงแรงงานก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุน การจัดส่งแรงงานกลุ่มดังกล่าวไปทำงานที่อิตาลี จึงขอให้ทางรัฐบาลอิตาลี ช่วยสนับสนุนความร่วมมือดังกล่าวให้บรรลุผลสำเร็จ รวมถึงแรงงานภาคบริการ อย่าง สปา นวดแผนไทยเป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือได้รับการยอมรับจากหลายประเทศ และเป็นกลุ่มแรงงานที่สนใจเดินทางไปทำงานในอิตาลีอย่างถูกกฎหมาย

ด้านคุณมาริน่า เอลวิร่า คัลเดโรเน่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนโยบายด้านแรงงานและสังคมอิตาลี กล่าวว่า จากการเจรจาร่วมกันในครั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน และการเติบโตของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจทั้งสองประเทศ ตนจะนำเสนอประเทศไทย เข้าไปสู่รัฐบาลเพื่อเพิ่มรายชื่อของประเทศไทย ให้เป็นการทำ MOU ร่วมกันระหว่างประเทศต่อไป

ที่มา: เดลินิวส์, 15/6/2567

รมว.แรงงาน ประชุมใหญ่ ILC ยื่นสัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 144

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เดินทางเยือนนครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เพื่อเข้าร่วมการประชุมใหญ่ประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference : ILC) สมัยที่ 112 และร่วมหารือกับประเทศสมาชิกประเด็นต่าง ๆ โดยเดินทางพร้อมด้วยนายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล

การมารวมประชุมครั้งนี้ นายพิพัฒน์มีวาระเข้าพบนายกิลเบิร์ต เอฟ. โฮงโบ (Mr. Gilbert F. Houngbo) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อหารือข้อราชการด้านแรงงาน

นายพิพัฒน์กล่าวว่า กระทรวงแรงงานนำสัตยาบันอนุสัญญา ฉบับที่ 144 ที่ได้ผ่าน ครม. มาลงนามร่วมกันกับผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศเป็นที่เรียบร้อย มีสาระสำคัญแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทย ในการส่งเสริมการเจรจาทางสังคมและการปรึกษาหารือไตรภาคี ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดี และการหารืออย่างสร้างสรรค์ ระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล เพื่อมุ่งไปสู่ความยุติธรรมทางสังคม และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคนในประเทศไทย

ด้านนายไพโรจน์กล่าวเสริมว่า กระทรวงแรงงานยึดมั่นในการทำงานของไตรภาคีเป็นหลัก เพื่อขับเคลื่อนแนวคิดที่ผลักดันมาจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่มุ่งเน้นการใช้กลยุทธ์การดำเนินงานที่สำคัญ คือ การเจรจาต่อรอง ในรูปแบบไตรภาคี ที่ต้องมีผู้แทนทั้งสามฝ่าย เพื่อให้มีกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และเกิดความสมดุลกับทุกฝ่ายต่อไป

นายประพันธ์ ปุษยไพบูลย์ ประธานสภาองค์การนายจ้าง การเกษตร ธุรกิจ อุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า คุณภาพชีวิตแรงงานที่ดียิ่งขึ้น ภายใต้กรอบอนุสัญญาต่าง ๆ สิทธิและความเท่าเทียม และการกระทำที่อาจส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติ

และที่สำคัญคือ การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาคมโลก ซึ่งตัวแทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ต่างชื่นชมกระทรวงแรงงานของประเทศไทยว่าสามารถแก้ไขกฎหมายแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น อีกทั้งเปิดโอกาสให้นายจ้างและเจ้าของกิจการ ได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการทำงานร่วมกับลูกจ้างและรัฐบาล

การเยือนครั้งนี้ นายพิพัฒน์ยังได้มอบหมายให้นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นผู้แทนร่วมหารือกับรัฐมนตรีแรงงานของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานของมาเลเซีย กับนายสติเว่น ซิม ซี เคียง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของมาเลเซีย ซึ่งหารือประเด็นการจัดตั้งกองทุนอาเซียน เป็นประโยชน์ในด้านการสร้างเครือข่ายการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ตลอดจนการพัฒนาทุนมนุษย์ในประเทศสมาชิกต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 13/6/2567

เครือข่ายแรงงานร้องรัฐบาลแก้ปัญหาราคาพลังงาน น้ำมัน ก๊าซ ค่าไฟฟ้าราคาแพง ทำให้สินค้าแพงขึ้น

เครือข่ายแรงงานทั้งรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ภาคประชาชนรวมตัวกันบริเวณด้านหน้ากระทรวงพลังงาน ถ.วิภาวดีรังสิต สลับสับเปลี่ยนกันพูดถึงปัญหาผลกระทบจากราคาค่าพลังงาน น้ำมัน ก๊าซ และค่าไฟฟ้าที่มีราคาแพง จนทำให้ต้นทุนราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย ระบุว่า การรวมตัวของเครือข่ายแรงงาน ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

และแม้ว่า รัฐบาลจะประกาศลดราคาค่าไฟฟ้าไปก่อนหน้านี้ จนถึงเดือน ส.ค. ทางเครือข่ายแรงงานกังวลใจว่า หลังจากเดือน ส.ค. จะมีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร รวมทั้งราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทบกับประชาชนและภาคขนส่ง ทำให้ต้นทุนสินค้าแพงขึ้น

ข้อเสนอของเครือข่ายแรงงาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย ระบุว่า ต้องการให้รัฐบาลหามาตรการวิธีการลดราคาค่าไฟฟ้า ให้รัฐบาลเจรจายกเลิกสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าจากกลุ่มทุนพลังงาน และให้ปฏิรูปโครงสร้างการกำหนดราคาน้ำมัน เปลี่ยนมาใช้การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่น

และยกเลิกการเก็บภาษีน้ำมันซ้ำซ้อน โดยต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเร่งด่วนภายในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งหลังจากนี้ทางเครือข่ายแรงงานจะรอดูท่าทีของรัฐบาล หากไม่ตอบรับข้อเสนอจะพิจารณายกระดับการเรียกร้องต่อไป

ที่มา: Thai PBS, 13/6/2567

กมธ.แรงงานเตรียมฟันผู้ช่วย สส.ก้าวไกล ตบทรัพย์ไซต์ก่อสร้าง

นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ที่ปรึกษากรรมาธิการการแรงงาน ในฐานะโฆษก กมธ. แถลงถึงความคืบหน้าการสอบหาข้อเท็จจริงกรณีนายวุฒิพงศ์ ทองเหลา สส.ปราจีนบุรี พรรคชาติพัฒนา ร้องเรียนทางกมธ. ว่ามีผู้ช่วย สส.ของนายสุเทพ อู่อ้น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ. แอบอ้างเป็นคณะ กมธ.เรียกรับผลประโยชน์ว่า เมื่อวันที่ 10-11 มิ.ย. ที่ผ่านมา กมธ.ได้ลงพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี และได้เข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบพยานหลักฐานที่เพียงพอว่า ผู้ติดตามของนายสุเทพได้เข้าไปบริเวณไซต์ก่อสร้าง และมีการแอบอ้างว่าเป็นคนใน กมธ.แรงงานตามคลิปที่ปรากฏเป็นข่าวจริง การที่เป็นบุคคลภายนอก แล้วอ้างว่าเป็น กมธ. ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องมีหนังสือถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้เสียหาย และการที่อ้างว่าเป็นผู้ติดตามของนายสุเทพ ใช้ให้ไปดำเนินการดังกล่าว ก็จำเป็นต้องส่งเรื่องจริยธรรมให้กับประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา

“2 เรื่องนี้จะมีการขอมติในที่ประชุม ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ หากมีมติว่าให้ดำเนินการ ก็จะส่งเรื่องไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่หากไม่เห็นด้วยก็จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ทางกมธ.ให้ความเป็นธรรมเพื่อให้นายสุเทพ สู้อย่างเต็มที่ ซึ่งนายสุเทพยอมรับชัดเจนว่าเป็นผู้ติดตามของตน ให้ไปดำเนินการในฐานะสส.ไม่ใช่ในฐานะกมธ. แต่ในคลิปที่ปรากฏอ้างว่าเป็น กมธ. ในข้อเท็จจริงประชาชนสรุปได้ไม่ยาก และเรื่องนี้จะได้ข้อชัดเจนในวันที่ 19 มิ.ย.นี้”

นายสามารถ กล่าวว่าเรื่องนี้จะสอดคล้องกับข่าวที่มีผู้ช่วย สส.ของพรรคก้าวไกล เขตปทุมธานี ที่กระทำการในลักษณะเดียวกันหรือไม่ ก็ต้องฝากสื่อมวลชนติดตาม การไปตบทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วย สส. หรือ สส.เอง ไม่สามารถทำได้

ที่มา: ไทยโพสต์, 13/6/2567

เผยรัฐบาลปลื้มสหรัฐฯ ชื่นชมการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กของไทยมีความก้าวหน้ามาก

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า 12 มิถุนายนของทุกปี องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (The International Labour Organization หรือ ILO) กำหนดให้วันที่ 12 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 หรือปี พ.ศ. 2542 เพื่อให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มจำนวนขึ้นของแรงงานเด็ก และช่วยกันยุติการกระทำเหล่านี้ โดยความร่วมมือกันของหน่วยงานรัฐบาล ลูกจ้าง องค์กรผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลกที่จะร่วมหารือถึงการช่วยเหลือเด็กเหล่านี้และทำให้แรงงานเด็กลดจำนวนลง

นายคารม กล่าวว่า ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาฉบับที่ 182 “ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก” เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 โดยในทุก ๆ ปีจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรณรงค์ต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก ทั้งนี้ ในส่วนของภาคแรงงานไทยถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการปัญหาแรงงานเด็ก โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา (US Department of Labor – DOL) พร้อมด้วยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (US Department of State) และกระทรวงรักษาดินแดน (US Department of Homeland Security ได้ประเมินว่า การบังคับใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมกุ้งไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับจากแหล่งต่าง ๆ หน่วยงานทั้งสามได้สรุปเบื้องต้นว่า ไม่มีเหตุให้เชื่อได้ว่ายังคงมีการบังคับใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมกุ้งของไทยอีกต่อไป

“รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาและขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย ในส่วนของกระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งจะเป็นกลไกหลักให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก รวมไปถึงจะได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการสำรวจภาวะการทำงานของเด็ก เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กของประเทศไทยในอนาคต” นายคารม ระบุ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 12/6/2567

สสส. สานพลังภาคี เดินหน้าสิทธิ-สวัสดิการที่เป็นธรรม สื่อสารสุข ลดอคติ พัฒนาอาสา เสริมสุขภาพแรงงานข้ามชาติในไทย

11 มิ.ย. 2567 ที่ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ประเทศไทย (International Organization for Migration: IOM) เปิดตัวคณะทำงานว่าด้วยสุขภาพผู้โยกย้ายถิ่นฐาน (Migration Health Sub-Working Group — MHWG) โดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคประชาสังคมต่าง ๆ ได้มีการเปิดตัวคณะทำงาน MHWG อย่างเป็นทางการ โดยมีผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ สวรส. สสส. IOM ร่วมพิธีเปิดตัวคณะทำงาน

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในการดูแลทุกคนบนแผ่นดินไทย เห็นได้จากช่วงวิกฤตโควิด 19 นอกเหนือจากคนไทยที่ได้รับการดูแลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรอง การรักษาพยาบาล หรือการฉีดวัคซีนป้องกัน ประชากรข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยก็ได้รับวัคซีนด้วย ซึ่งจาก 140 ล้านโดสที่ฉีดไป มีถึง 5 ล้านโดสเป็นจำนวนที่ฉีดให้กับประชากรข้ามชาติในประเทศไทย นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังมีการให้บริการพื้นฐานด้านสุขภาพกับประชากรข้ามชาติ เช่น วัคซีนสำหรับเด็กเล็ก หรือวัคซีนบางตัวสำหรับผู้ใหญ่ที่ควรได้รับทั้งคนไทยและประชากรข้ามชาติ เพื่อการป้องกันโรค สร้างภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค, การเข้าถึงบริการคัดกรองโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ , ระบบหลักประกันสุขภาพ สำหรับผู้ที่ขึ้นทะเบียนแรงงานเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย

“ปัจจุบันมีการขยายบริการที่ครอบคลุมมากขึ้นเพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพ และมีสุขภาพที่ดี เมื่อเจ็บป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม จึงเชื่อว่าการเปิดตัวคณะทำงาน MHWG จะช่วยสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือ ทั้งในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร วิธีการทำงาน รวมทั้งมาตรการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประชากรข้ามชาติ ทั้งที่มีและไม่มีเอกสารแสดงตัวตนตลอดจนแสดงให้เห็นถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชากรข้ามชาติได้อีกทางหนึ่ง” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า หากมองด้วยความเป็นธรรม ประชากรข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทย เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้นระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ จึงจำเป็นต้องครอบคลุมถึงกลุ่มประชากรข้ามชาติที่เป็นแรงงานสำคัญด้วย ซึ่งเป็นไปตามหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ต้องดูแลทุกคนบนแผ่นดินไทย โดย สวรส. เป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพของประชากรข้ามชาติมาโดยตลอด ด้วยการเป็นแกนหลักในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก ค.ศ. 2022-2026 (WHO-RTG Country Cooperation Strategy : CCS) ซึ่งเป็นอีกโมเดลตัวอย่างของการทำงานร่วมกันในเรื่อง Migrant Health

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อ โดยคณะทำงาน MHWG จะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ทุกฝ่ายนำศักยภาพของแต่ละหน่วยงานมาช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ซึ่งวันนี้ประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับสากลแล้ว โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) รับรองว่า คณะกรรมการ MHWG เป็นกลไกที่จะช่วยพัฒนาสุขภาพคนพลัดถิ่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งหลังจากนี้ คณะทำงาน MHWG จะเป็นตัวกลางในการเสนอแนวทางให้กับรัฐบาลว่าประเทศไทยควรดำเนินการอะไรเพิ่มเติม เพื่อให้การดูแลผู้โยกย้ายถิ่นฐานมีทั้งความเป็นมิตร เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส. พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงานว่าด้วยสุขภาพผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งที่ผ่านมา สสส. ได้สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ตามที่ควรจะได้รับ โดยมีแนวทางการทำงานสำคัญที่ดำเนินงานร่วมกับภาคประชาสังคมมากกว่า 40 องค์กร 1.มุ่งลดอุปสรรค หรือปัญหาการเข้าถึงสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะสิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพ และประกันสังคม 2.พัฒนาศักยภาพแกนนำพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ให้มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ และสิทธิต่าง ๆ 2,000 คน สามารถสื่อสารข้อมูลสุขภาพไปยังชุมชน สถานประกอบการ แคมป์ก่อสร้าง ช่วยกระจายข้อมูล องค์ความรู้ที่ถูกต้องไปยังกลุ่มแรงงานได้อย่างกว้างขวาง

“ขณะนี้สังคมยังมีทัศนคติ ความเข้าใจต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติในทางลบ จากการสำรวจความคิดเห็นคนไทยต่อกลุ่มประชากรข้ามชาติ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างเดือน ก.พ. ปี 2566 – ก.พ. ปี 2567 มองว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากร 22.9% ควรมีการจัดโซนนิ่งแยกกันอยู่กับคนไทย 62.2% ไม่สบายใจหากคนในครอบครัวคบหากับประชากรข้ามชาติ 48.9% ดังนั้นเพื่อลดอคติ และสร้างความเข้าใจการอยู่ร่วมกัน สสส. เตรียมพัฒนาแพลตฟอร์มการสื่อสาร สร้างความเข้าใจ ส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน และมุ่งสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ” ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

Géraldine Ansart หัวหน้าสำนักงาน องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) สำนักงานประเทศไทย และผู้แทนคณะทำงานว่าด้วยสุขภาพผู้โยกย้ายถิ่นฐาน (MHWG) กล่าวว่า หมุดหมายสำคัญของคณะทำงาน MHWG ในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อผู้โยกย้ายถิ่นฐาน คือการมุ่งไปสู่เป้าหมายแห่งการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน โดยคณะทำงาน MHWG มุ่งเน้น 3 เรื่องหลักๆ คือ 1. การสนับสนุนการพัฒนาและส่งเสริมนโยบายที่เปิดกว้างและมีส่วนร่วมสำหรับผู้โยกย้ายถิ่นฐาน 2. การยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพประกันสุขภาพ และระบบสุขภาพของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน 3. การสร้างเสริมบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.) ในระบบบริการสุขภาพ ซึ่งก่อนที่จะมาเป็นคณะทำงาน MHWG ได้มีการรวมกันเป็นกลุ่มย่อย ภายใต้ UNNM ว่าด้วยการเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 สำหรับผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ทั้งนี้จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้เห็นบทเรียนแล้วว่า ไม่มีใครปลอดภัย ถ้าทุกคนไม่ปลอดภัย

ที่มา: สำนักข่าวสร้างสุข, 11/6/2567

แรงงานผวา “โรงงานไทย” ปิดตัวเกลื่อน ไม่ถึง 2 ปี ล้มแล้ว 1,700 แห่ง คนตกงาน 42,000 ตำแหน่ง

หลังจากมีการปิดตัวของหลายๆ โรงงาน เช่น โรงงานผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่าง ซูซูกิ ประกาศปิดกิจการในไทยทั้งหมดภายในปี 2568 การปิดกิจการของบริษัทหรือธุรกิจเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบอย่างมากทั้งต่อเจ้าของกิจการ พนักงาน และสังคมโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นการเลิกจ้างงานอย่างกะทันหันส่งผลให้พนักงานสูญเสียรายได้ทันที ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องเผชิญกับปัญหาการชำระหนี้สินหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามมา นับว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับเศรษฐกิจในประเทศไทย

KKP Research เผยข้อมูลการปิดโรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เร่งตัวขึ้นชัดเจนตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2023 โดยพุ่งสูงขึ้นถึง 159 โรงงานต่อเดือนจากปกติเฉลี่ยเพียง 57 โรงงานต่อเดือน ส่งผลให้หากนับรวมตั้งแต่ต้นปี 2023 มาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2024 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบจากการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 10/6/2567 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net