Skip to main content
sharethis

การแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เชียงรายและทางตอนเหนือของเชียงใหม่ เผชิญความท้าทายหลายมิติเนื่องจากพื้นที่ต้นน้ำซึ่งเป็นที่มาของดินโคลนและน้ำป่าไม่ได้อยู่ในเขตอธิปไตยของไทย แต่อยู่ภายใต้การจัดการของกองกำลังติดอาวุธอย่างกองทัพสหรัฐว้า UWSA ที่พบว่าในระยะหลังได้เปิดพื้นที่ทำเหมืองทอง ถ่านหิน และแมงกานีส ในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำกก รวก และสาย ขณะเดียวกันชุมชนในพื้นที่รัฐฉานยังได้รับผลกระทบเพราะถูกไล่ที่ทำเหมือง ขณะที่ชุมชนแม่สายเคยร้องเรียนเพราะหวั่นผลกับแหล่งผลิตน้ำประปามาแล้ว

ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมาผลพวงของพายุยางิ ยังคงสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปและจีนตอนใต้ เหตุนํ้าท่วมและดินถล่มในหลายกรณีอยู่ในระดับที่รุนแรง ครอบคลุมอาณาบริเวณและมูลค่าความเสียหายมากมายมหาศาล

น้ำท่วม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ภาพเมื่อ 10 กันยายน 2567 (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

ในภาคเหนือประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่บริเวณ ลุ่มนํ้าสาละวิน กก สาย อิง และโขง ได้กลายเป็นพื้นที่ประสบภัยขนาดใหญ่ในคราวเดียว ที่ครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างขวางและเกิดเป็นความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์

ผู้เชี่ยวชาญด้านอุกทกศาสตร์และภัยพิบัติต่างให้ข้อมูลเชิงสถิติอันเกี่ยวเนื่องกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก อันประกอบไปด้วยปริมาณนํ้าฝนจากตัวพายุยางิที่เกิดขึ้นมากกว่าระดับปกติหลายเท่าตัว และการเพิ่มขึ้นของระดับนํ้าในแม่นํ้าโขง ซึ่งสัมพันธ์กับทั้งปริมาณนํ้าฝนและการจัดการของเขื่อนแม่นํ้าโขงในประเทศจีน ซึ่งในกรณีหลังทำให้เกิดระดับนํ้าหนุนสูงเข้าท่วมเขตอำเภอเชียงแสน เชียงของและเวียงแก่น ในจังหวัดเชียงราย

ในขณะที่ผู้เชี่ยวด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ มุ่งประเด็นการถกเถียงไปที่เรื่องของการขยายตัวของเมืองในพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนทั้งแม่สายและท่าขี้เหล็กที่กีดขวางทางนํ้าของแม่นํ้าสาย ประเด็นเรื่องการจัดการฝายในแม่นํ้ากกของหน่วนงานที่เกี่ยวข้องในเชียงราย และประเด็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจในพื้นที่ต้นนํ้าของทั้งแม่นํ้ากก และแม่นํ้าสาย ที่อยู่ในรัฐฉานตอนใต้ ประเทศพม่า อีกทั้ง “ดินโคลน” จำนวนมหาศาลที่มาพร้อมกับกระแสนํ้าในแม่นํ้าทั้งสอง

บทวิเคราะห์นี้จะนำเสนอเกี่ยวกับปริศนาเรื่องมวลนํ้ามหาศาลในลุ่มนํ้าทั้งสองในรัฐฉานตะวันออก ซึ่งมีปริมาณนํ้าส่วนหนึ่งไหลผ่านมายังลุ่มน้ำในประเทศไทย ว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร และมันเกิดอะไรขึ้นจริงๆในพื้นที่ตรงนั้น ทั้งในแง่มุมของนํ้า และเรื่องที่มากกว่านั้น ทั้งในแง่การเมืองระหว่างประเทศ และปัญหาการเมืองภายในพม่าที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการภัยพิบัติอย่างไร โดยตั้งอยู่บนการมองปัญหาที่เกิดขึ้นในฐานะ “ปัญหาข้ามพรมแดน”

เมื่อต้นนํ้าไม่ได้อยู่ในไทย ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีกลไกควบคุม

น้ำท่วมด่านชายแดน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ภาพเมื่อ 10 กันยายน 2567 (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

ลำน้ำแม่สายและอาคารพาณิชย์สองฝั่ง ท่าขี้เหล็ก (ซ้าย) แม่สาย (ขวา) เมื่อปี 2533 (ที่มา: แฟ้มภาพ/เมืองไทยในอดีต/Kapook)

เชียงรายและอำเภอทางตอนเหนือของเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่ประสบกับปัญหาอุทกภัยซ้ำซากเป็นประจำทุกปี แต่ความท้าทายที่ทำให้สถานการณ์ยิ่งซับซ้อนขึ้นคือ พื้นที่ต้นนํ้าของลุ่มน้ำหลักๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมไม่ได้อยู่ในอธิปไตยของประเทศไทย แต่เป็นพื้นที่ต้นน้ำที่อยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า และบางสายน้ำก็มาจากประเทศจีน 

สิ่งนี้ทำให้การจัดการน้ำในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยากต่อการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากขาดการประสานงานระหว่างประเทศ

เริ่มต้นที่แม่นํ้าโขงซึ่งไหลผ่านถึง 6 ประเทศ ได้แก่ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ระยะทางกว่า 4,900 กิโลเมตร โดยช่วงที่ไหลผ่านประเทศไทยมีระยะทางประมาณ 97 กิโลเมตร กั้นเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างไทยและลาว ในอำเภอเชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น ของจังหวัดเชียงราย แต่ต้นน้ำของแม่น้ำสายนี้อยู่ในประเทศจีน ซึ่งมีเขื่อนขวางกั้นลำน้ำอยู่ถึง 11 แห่ง โดยเขื่อนที่อยู่ใกล้ประเทศไทยที่สุดคือ เขื่อนจิ่งหง การควบคุมการปล่อยน้ำจากเขื่อนแห่งนี้ส่งผลโดยตรงต่อระดับนํ้าในแม่นํ้าโขงที่ไหลเข้าสู่จังหวัดเชียงราย 

หลายครั้งที่การปล่อยน้ำจากเขื่อนเหล่านี้ทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในเขตพื้นที่เชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนริมฝั่งแม่น้ำอย่างรุนแรง

นอกจากแม่น้ำโขงแล้ว แม่นํ้ากกก็เป็นอีกหนึ่งสายนํ้าสำคัญที่มีบทบาทอย่างมากในพื้นที่เชียงราย แม่นํ้ากกมีความยาวรวมประมาณ 285 กิโลเมตร โดยในส่วนที่ไหลผ่านประเทศไทยมีระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร ต้นน้ำของแม่นํ้ากกอยู่ในรัฐฉานตอนใต้ ประเทศพม่า แม่น้ำสายนี้ไหลผ่านอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนเข้าสู่พื้นที่หุบเขาและผ่านตัวเมืองเชียงราย แล้วไปบรรจบกับแม่นํ้าโขงที่สบกก อำเภอเชียงแสน สายนํ้านี้ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งน้ำหลักที่หล่อเลี้ยงชุมชนในพื้นที่ แต่ยังเป็นแหล่งน้ำที่สร้างปัญหาอุทกภัยซ้ำซากหลายครั้งในแต่ละปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มีปริมาณน้ำฝนตกมาก การที่ต้นนํ้าอยู่ในพม่าทำให้การจัดการน้ำเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากไม่มีการประสานงานร่วมระหว่างประเทศในการควบคุมและป้องกันอุทกภัย

นอกจากแม่นํ้ากกแล้ว แม่นํ้าสายและแม่นํ้ารวกก็เป็นอีกสองสายนํ้าสำคัญที่ไหลผ่านเชียงราย โดยมีต้นน้ำอยู่ในรัฐฉานตอนใต้ แม่นํ้าสายมีความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร ซึ่งครึ่งหนึ่งของระยะทางนี้ใช้เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างไทยและพม่า ลำน้ำสายนี้ไหลผ่านอำเภอแม่สายและท่าขี้เหล็ก ซึ่งเป็นสองเมืองเศรษฐกิจชายแดนที่สำคัญของไทยและพม่า ความสำคัญของแม่น้ำสายนี้ไม่เพียงแต่ในแง่ของทรัพยากรน้ำ แต่ยังเกี่ยวข้องกับการปักปันพรมแดนระหว่างสองประเทศ 

ในอดีตแม่นํ้าสายมีความกว้างถึง 150 เมตร แต่ปัจจุบันกลับแคบลงอย่างมาก เนื่องจากการขยายตัวของเมืองทั้งสองฝั่งซึ่งส่งผลให้แม่น้ำบางจุดเหลือเพียง 20 เมตรเท่านั้น การขยายตัวของเมืองทั้งแม่สายและท่าขี้เหล็ก ก่อให้เกิดการกีดขวางทางน้ำ ซึ่งทำให้ทิศทางการไหลของแม่น้ำสายเปลี่ยนไปและส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่บ่อยครั้ง

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับแม่นํ้าสายคือ แม่นํ้าสายเป็นสายนํ้าระหว่างประเทศที่ไทยได้เข้าไปจัดการโดยตรงมากที่สุด กล่าวคือเข้าไปดำเนินการเพื่อประโยชน์ของฝั่งไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ลำนํ้าสายที่กั้นเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างสองประเทศ แต่ก็ไม่สู้จะประสบความสำเร็จมากนัก

นอกจากนี้ แม่นํ้ารวกที่มีความยาว 327 กิโลเมตร ยังเป็นอีกสายนํ้าหนึ่งที่มีต้นน้ำอยู่ในรัฐฉานและไหลผ่านไทยในเขตพรมแดนธรรมชาติกับพม่าเช่นกัน แม่นํ้ารวกไหลบรรจบกับแม่นํ้าโขงที่สบรวก อำเภอเชียงแสน การไม่มีการจัดการร่วมระหว่างไทยและพม่าเกี่ยวกับการควบคุมและจัดการน้ำในลำน้ำเหล่านี้ทำให้การป้องกันภัยน้ำท่วมในพื้นที่เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะขาดข้อมูลทางอุทกศาสตร์ที่แม่นยำและทันสมัย

ปัญหาการจัดการน้ำในพื้นที่เหล่านี้ยังมีความไม่ลงรอยระหว่างสองประเทศ ทั้งในเรื่องการสร้างฝายกั้นลำน้ำสายที่ฝ่ายหนึ่งต้องการสร้าง แต่ฝ่ายอื่นๆ กลับมองว่าเป็นการขัดขวางทิศทางธรรมชาติของแม่น้ำ ข้อเสนอของแต่ละฝ่ายถูกมองว่าไม่ได้ส่งเสริมประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการควบคุมน้ำ หรือการใช้ประโยชน์จากลำน้ำร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ การไม่มีข้อตกลงร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำทำให้สถานการณ์น้ำท่วมซ้ำซากยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในปีนี้เกิดน้ำท่วมแม่สาย-ท่าขี้เหล็กแล้ว 9 ครั้ง

การขยายตัวของเมืองเศรษฐกิจชายแดนในแม่สายและท่าขี้เหล็ก ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทั้งในแง่เศรษฐกิจและการค้าชายแดน ส่งผลให้ปัญหาน้ำท่วมยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น การพัฒนาพื้นที่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำสายเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจชายแดน ทำให้ทางน้ำแคบลงและเป็นการขวางทางไหลของน้ำธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้ถูกควบคุมหรือจัดการผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ ทำให้ปัญหายังคงเกิดขึ้นอย่างซ้ำซากและยากต่อการแก้ไขอย่างยั่งยืน

รัฐประหารพม่า 2021 ภูมิทัศน์การเมืองใหม่ จับตากองทัพสหรัฐว้า

ท่าขี้เหล็กถือว่ายังเป็นเมืองชายแดนที่สำคัญของรัฐฉานที่ “ปลอดจากการสู้รบ” นับตั้งแต่เหตุรัฐประหารโดยกองทัพพม่าในปี ค.ศ. 2021 เป็นต้นมา

แม้ผลกระทบจากรัฐประหาร จะยังไม่ได้นำไปสู่การสู้รบรุนแรงในพื้นที่รัฐฉานตะวันออก แต่ผลกระทบในส่วนอื่นได้เกิดขึ้นแล้ว และดำเนินไปออย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนของภูมิทัศน์ในการครอบครองพื้นที่ของกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่างๆ และการขยายอิทธิพลของกองทัพสหรัฐว้า (United State Wa Army) กองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยที่แข็งแกร่งและมีขนาดใหญ่ที่สุด ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร

การแสดงในงานฉลอง 30 ปีกองทัพสหรัฐว้า UWSA ลงนามสันติภาพกับรัฐบาลพม่า เมื่อคืนวันที่ 16 เม.ย. 2562 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Democratic Voice of Burma)

ในพื้นที่รัฐฉาน UWSA ถือเป็น 1 ใน 2 ของกองกำลังกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยในพม่า (อีกกลุ่มคือกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย--National Democracy Alliance Army : NDAA หรือที่รู้จักกันในชื่อ กองกำลังเมืองลา) ที่มีการปักปันเขตแดน (demarcation) ที่ชัดเจนและใช้อำนาจของตนปกครองดินแดนนั้นอย่างสมบูรณ์ 

ที่กล่าวมาข้างต้นหมายถึงดินแดนที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 2008 ของพม่าว่าเป็น “เขตบริหารจัดการตนเองว้า” (Wa Self-Administered Division) ในฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉานซึ่งมีชายแดนติดกับจีน เดิมทีนั้นทางการพม่าใช้ชื่อทางการว่า “ภูมิภาคพิเศษแห่งรัฐฉานที่ 2” (Shan State Special Region No.2) เป็นที่ทราบกันดีว่าดินแดนแห่งนี้ไม่มีอำนาจรัฐพม่าแทรกซึมเข้าไป

นอกจากดินแดนที่ว่านี้ยังมี “ว้าใต้” หรือเขตปกครองของ UWSA ในพื้นที่ตอนใต้ของรัฐฉานตะวันออกที่มีอาณาบริเวณติดกับชายแดนของไทย ไล่มาตั้งแต่ฝั่งตรงข้ามเชียงราย เชียงใหม่ จนไปถึงแม่ฮ่องสอน โดยพื้นที่ส่วนนี้ยังไม่มีการรับรองสถานะและปักปันเขตแดนที่ชัดเจน 

แต่ในทางปฏิบัติ UWSA สามารถสถาปนาอำนาจนำในพื้นที่เหนือกองกำลังชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ ในอาณาบริเวณดังกล่าว ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร ซึ่งแม้แต่กองทัพพม่าเอง ก็ยังหลีกทางให้อำนาจนำที่ UWSA สถาปนาในดินแดนส่วนนี้ 

หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า นับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา มีประชากรว้าจากดินแดนที่ติดกับจีน ที่อพยพมายังเขตปกครองในพื้นที่ตอนใต้ ของรัฐฉานตะวันออกมากว่า 120,000 คน และ UWSA ก็มีกำลังทหารของตนเองประจำการในเขตนี้กว่า 15,000 คน

ในพื้นที่ตอนใต้ของรัฐฉานตะวันออก UWSA ยังบริหารจัดการพื้นที่ผ่านกิจการต่างๆ มากมาย อาทิ สวนยางพารา ไร่ข้าวโพด และเหมืองแร่ ประเภทต่างๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตามพื้นที่ดังกล่าวมีปัญหาละเอียดอ่อนในเรื่องยาเสพติด ซึ่งฝ่ายความมั่นคงของไทยถือว่าเป็นภัยคุกคามหลัก ทำให้ไม่มีการเปิดด่านการค้าชายแดนบริเวณที่เป็นพื้นที่ชายแดนที่ติดต่อกับเขตของว้าใต้

โดยหลังจากรัฐประหาร 2021 เป็นต้นมา UWSA เข้าไปบริหารจัดการพื้นที่หลายส่วนเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการทหารมากขึ้น ในหลายกรณีนั้น ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเมืองของท่าขี้เหล็กด้วย โดยมีการขับไล่ประชากรเชื้อสายไทใหญ่ออกจากพื้นที่ดังกล่าว

ขณะที่ทางไทยเองเคยเรียกร้องกับกองทัพพม่าผ่านกลไกความร่วมมือทวิภาคี ให้ช่วยเจรจากับ UWSA เพื่อรื้อถอนฐานทัพของที่ตั้งขอบชายแดนไทยกว่า 5 ฐานออกไป โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นระหว่างการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee) ไทย-เมียนมาครั้งที่ 97 เมื่อเดือนมิถุนายน 2023 [1]

ผ่านไป 1 ปี ก็ไม่เกิดผลใดๆ ในทางตรงกันข้าม UWSA กลับมีการเสริมกำลังและขยายอำนาจของตนไปยังหมู่บ้านของชาวไทใหญ่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ปัญหาการทะลักเข้ามาของยาเสพติดจากเขตปกครองของ UWSA เข้ามาในไทยผ่านชายแดนบริเวณนี้ก็เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงหลังรัฐประหารมานี้

ในปี ค.ศ. 2022 UWSA ได้ยื่นขอเสนอไปยัง SAC อย่างเป็นทางการเพื่อสถาปนารัฐว้า เอาเข้าจริงแล้ว UWSA ได้ดำเนินการหลายเรื่องเพื่อขยายอำนาจอันจะนำไปสู่กับสถาปนาดินแดนที่ว่านี้ มาระยะหนึ่งแล้ว มีการดำเนินการก่อสร้างถนนเพื่อเชื่อมดินแดนจากฝั่งเหนือมาฝั่งใต้ แต่การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองในพม่าหลังรัฐประหารนั้น ได้เอื้อให้ความใฝ่ฝันนั้นเป็นไปได้เร็วขึ้น UWSA ใช้การเดินเกมที่ระมัดระวัง ไม่พยายามที่จะเข้าไปยุ่งกับการปะทะด้วยกำลังโดยตรง แต่เลือกที่จะให้การสนับสนุนเรื่องอาวุธให้กับกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐฉานที่ต่างมีความประสงค์ที่จะเข้ายึดพื้นที่จากกองทัพพม่า 

ขณะเดียวกัน UWSA ยังรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำระดับสูงในกองทัพพม่าในรูปแบบของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มีร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจค้าหยก นับตั้งแต่การลงนามหยุดยิงแบบทวิภาคีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989

ธุรกิจเหมืองในพื้นที่ต้นนํ้าบนภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไปของพม่า

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation/SHRF) ซึ่งติดตามสถานการณ์การขยายตัวของธุรกิจเหมืองแร่ในรัฐฉานตอนใต้และตะวันออกอย่างต่อเนื่อง ระบุว่า นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในพม่า ธุรกิจเหมืองแร่ โดยเฉพาะเหมืองทอง ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วและนัยยะสำคัญ มีการออกใบอนุญาตให้บริษัทเหมืองทองมากกว่า 20 แห่ง ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายทหารระดับสูงในกองทัพพม่าและกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อย

เมื่อพิจารณาตำแหน่งของเหมืองแร่ต่างๆ เหล่านี้ จะพบว่าพื้นที่ที่ถูกนำมาใช้เพื่อทำกิจการเหมืองแร่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตต้นนํ้าของลุ่มนํ้าสำคัญสามสาย ได้แก่ แม่นํ้าสาย แม่นํ้ากก และแม่นํ้ารวก ซึ่งไหลเข้าสู่ภาคเหนือของไทย เหมืองแร่เหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อชุมชนท้องถิ่นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงหลังที่ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหานํ้าท่วมและดินโคลนถล่ม รวมถึงสารเคมีปนเปื้อนในแหล่งนํ้า

นอกจากนี้ ชุมชนจำนวนมากยังต้องประสบปัญหาการไร้ที่ดินทำกิน เนื่องจากถูกขับไล่ออกจากพื้นที่เพื่อเปิดทางให้ธุรกิจเหมืองแร่เหล่านี้ ซึ่งมีกองกำลังติดอาวุธคุ้มครอง

แผนที่แสดงตำแหน่งของเหมืองทองบนแม่นํ้าสาย (Shan Human Rights Foundation, March 2024)

ในบริเวณต้นน้ำของแม่นํ้าสาย การขยายพื้นที่เพื่อทำเหมืองทองเริ่มปรากฏชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายปี 2021 เมื่อกลุ่มทหารบ้านหรือ อส. ในพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพพม่า เปิดทางให้คนงานจีนเข้ามาถางและปรับพื้นที่บนเขาและพื้นที่ลาดเชิงเขา เพื่อกิจการเหมืองทอง มีการนำเครื่องจักรกลมาติดตั้ง สกัดภูเขา ขุดหนองนํ้าเพื่อใช้สกัดแร่ทองคำในเขตเมืองโจ๊ก ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมืองสาด นอกจากนี้ยังมีการขยายพื้นที่เหมืองไปยังต้นนํ้าแม่สายที่เขตนายาวและเมืองกานในช่วงปลายปี 2022 มีคนงานกว่า 1,000 คนที่ได้รับการว่าจ้างให้เข้ามาทำงานในพื้นที่นี้

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ยังระบุว่ามีการใช้สารไซยาไนต์จำนวนมากในการสกัดแร่ทองคำ ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงต่อสิ่งแวดล้อม โดยในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชาวอำเภอแม่สายได้สังเกตเห็นว่าน้ำในแม่นํ้าสายมีลักษณะขุ่นสีขาวผิดปกติ สร้างความกังวลให้กับชุมชน เนื่องจากแม่น้ำสายเป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา [2]

แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งของเหมืองถ่านหินในเขตเมืองกก จังหวัดเมืองสาด บริเวณต้นแม่นํ้ากก (ที่มา: Shan Human Rights Foundation, 2019)

แผนที่สร้างเขตอุตสาหกรรมใหม่ของกลุ่มทุนว้า ในเขตท่าขี้เหล็ก (ที่มา: Shan Human Rights Foundation/สำนักข่าวชายขอบ)

ในบริเวณต้นนํ้ากก มีการเข้าไปทำกิจการเหมืองถ่านหินในเขตเมืองกกของทุนต่างชาติ ตลอดช่วง 10 กว่าปี ซึ่งสร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนที่อยู่อาศัยโดยรอบ ปัจจุบันมีการเปลี่ยนมือของผู้ประกอบกิจการ แต่พื้นที่ที่ได้รับการปรับเปลี่ยนเพื่อการทำเหมือง สร้างปัญหาเรื่องดินโคลนถล่มในช่วงฤดูฝนเป็นอย่างมาก ในบริเวณลุ่มนํ้ารวก มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อการทำเหมืองแร่แมงกานีส ซึ่ง UWSA มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการในส่วนนี้ นอกจากนั้นแล้วยังมีการขยายตัวของเหมืองทองในพื้นที่อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝั่งตะวันออกของท่าขี้เหล็ก เช่น เมืองเล็น ซึ่งถือว่าเป็นบริเวณที่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อกิจการเหมืองทองอย่างกว้างขวาง และมีการเข้ามาทำธุรกิจของทุนต่างชาติอีกด้วย [3, 4]

พม่ากับ ความเปราะบางในภาวะโลกร้อนและวิกฤตมนุษยธรรม

หลังจากที่พายุยางิพัดผ่านไป ดูเหมือนว่าข่าวสารเกี่ยวกับนํ้าท่วมและผลกระทบของมัน จะเดินทางช้ากว่าฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่ความรุนแรงนั้นมหาศาลกว่าหลายเท่าตัว เกิดเหตุฝนตกหนักทั่วภูมิภาคของประเทศ โดยในส่วนของพม่ามีปริมาณฝนมาจากฝั่งอ่าวเบงกอลด้วย สื่อทางการของสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council—SAC) รายงานไว้เมื่อวันที่ 17 กันยายน ว่ามีบ้านเรือนกว่า 158,373 หลังถูกนํ้าท่วม ประชาชนเสียชีวิต 226 และอีกกว่า 77 คนสูญหาย ถนนหนทางและพื้นที่การเกษตรเสียหายเป็นบริเวณกว้าง โดยมีองค์กรกาชาดพม่าได้ดำเนินการแจกจ่ายความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ประสบภัย [5]

ส่วนทาง SAC ก็ร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ แต่ขณะเดียวกันก็เดินหน้าปฏิบัติการทางทหารด้วยการโจมตีทางอากาศในห้วงเวลาที่ประชาชนต้องประสบเหตุอุทกภัย มีรายงานการโจมตีทางอากาศโดยกองทัพพม่า ในเมืองสี่ป้อ แสนหวี ของรัฐฉาน และในเมืองผากั้น ของรัฐกะฉิ่น [6, 7, 8]

ขณะที่ฝ่ายต่อต้านประเมินว่ามีประชาชนมากกว่า 700,000 คน ทั่วประเทศได้รับผลกระทบจากเหตุนํ้าท่วมในครั้งนี้ และได้เรียกร้องให้นานาชาติส่งความช่วยเหลือไปยังพม่า โดยขอให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

เมื่อปีที่แล้วองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration หรือ IOM) ระบุว่าวิกฤตมนุษยธรรมในพม่าที่จะทวีรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่องค์กรต่างๆ ที่ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมประสบความยากลำบากในการปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง เพราะเส้นทางการคมนาคมเพื่อลำเลียงความช่วยเหลือถูกตัดขาด รวมถึงระดับความรุนแรงที่ยังคงทวีคูณอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ กองทัพพม่าอาศัยความรุนแรงในทุกรูปแบบเพื่อเผด็จศึกฝ่ายตรงข้าม ทั้งการใช้เครื่องบินรบโจมตีพื้นที่เป้าหมายทางอากาศ รวมไปถึงเข่นฆ่าและก่อเหตุคุกคามทางเพศต่อประชากรฝ่ายตรงข้าม และการปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรมเข้าไปถึงหลายพื้นที่89 นอกจากนั้นแล้ว ข้อมูลจากดัชนีความเสี่ยงภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index) เมื่อ ปี ค.ศ. 2022 บ่งชี้ว่าพม่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติจากสภาวะโลกร้อนสูงเป็นอันดับสอง จากจำนวน 183 ประเทศทั่วโลก[9, 10] สถานการณ์ดังกล่าวนี้จึงส่งผลให้ความเปราะบางด้านมนุษยธรรมเป็นสิ่งที่น่าวิตกมากขึ้นไปอีก

จึงอาจประเมินได้ว่าประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติในรัฐฉานจะเผชิญปัญหาอะไรต่ออีกบ้าง ทั้งการให้ความช่วยเหลือที่เป็นไปอย่างล่าช้าและยากลำบาก การฟื้นฟูหลังอุทกภัย ก็ไม่ได้มีแผนจัดการชัดเจน ในขณะที่กองทัพพม่าน่าจะพิจารณาให้ความสำคัญกับการยึดคืนพืนที่จากฝ่ายต่อต้านในช่วงเวลาอุกทกภัยนี้ มากกว่าจะมุ่งไปที่การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟู

มองไปข้างหน้า

การวางแนวทางแก้ปัญหาอุทกภัยและจัดการนํ้าในพื้นที่เชียงราย และอำเภอทางตอนเหนือของเชียงใหม่ มีความท้าทายมากกว่าพื้นที่ส่วนอื่นๆ การจัดการพื้นที่ต้นน้ำมีความซับซ้อนอันเนื่องมาจากไม่ได้อยู่ในพื้นที่อธิปไตยของรัฐไทย ในขณะเดียวกันยังเป็นพื้นที่ชายแดนที่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ครอบครองและบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ยังมีความคลุมเครือในเรื่องความชอบธรรมเชิงกฏหมาย และเป็นพื้นที่ละเอียดอ่อนในมิติความมั่นคงโดยเฉพาะปัญหายาเสพติด

การพึ่งพากลไกระหว่างประเทศระดับรัฐต่อรัฐ หรือคณะกรรมการชายแดนอย่าง TBC อาจไม่เพียงพอและไม่เท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในพม่า หลังจากเกิดรัฐประหาร โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลกลางเนปิดอว์อ่อนแอลง หนทางข้างหน้าของผู้ประสบภัยน้ำท่วมในรัฐฉานยังเต็มไปด้วยความลำบาก การเยียวยาและการฟื้นฟูไม่อาจเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในฝั่งไทยได้ ไม่นับว่ายังมีปัญหาการขยายอิทธิพลของกลุ่ม UWSA ในพื้นที่ และปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินอีกด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net