Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข่าวฉาวต่อเนื่องในวงการสงฆ์ ทำให้นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา เสนอว่า

“ กมธ.ฯ จะผลักดันให้มีการแก้กฎหมายกรณีที่พระสงฆ์องค์ใดอวดอุตริมนุสสธรรมว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษ บรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันต์ มีเยี่ยวมีขี้เป็นพระธาตุ ทำให้คนหลงเชื่อก่อให้เกิดความเสียหาย ต้องลงโทษจำคุก 1 ถึง 5 ปี พวกเสพเมถุนและผู้หญิงที่มาร่วมเสพกับพระก็ต้องถูกลงโทษ 1 ถึง 10 ปีด้วย ” (https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_3340289)

จำได้ว่าเคยมีร่างกฎหมายกำหนดโทษเช่นนี้แชร์กันในโลกโซเชียล เมื่อราว 5-6 ปีที่แล้ว แต่ก็เงียบหายไป พอเกิดเรื่องฉาวในวงการสงฆ์ขึ้นอีก ความคิดนี้จึงถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่ วิธีคิดเช่นนี้เป็นวิธีคิดแบบ “รัฐพุทธศาสนา” นั่นคือ รัฐไทย (ตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์) ที่ปกครองโดยระบบกษัตริย์ธรรมราชา สมมติเทพ โพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือว่ากษัตริย์ต้องทรงเป็น “พุทธมามกะ” และทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก 

ดังนั้น ในรัฐพุทธศาสนาไทย นอกจากกษัตริย์ (หรือรัฐ) จะอุปถัมภ์ส่งเสริมพุทธศาสนา แต่งคัมภีร์สำคัญๆ เช่นไตรภูมิพระร่วง ให้จัดหา/รวบรวมคัมภีร์ไตรปิฎก อรรถกถาฎีกา ให้ชำระคัมภีร์ต่างๆ เหล่านั้น จัดการเรียนการสอนแก่พระสงฆ์ เช่น กษัตริย์ทรงเป็นประธานการสอบบาลีของพระสงฆ์ด้วยพระองค์เอง ทรงสร้างวัดประจำราชสำนัก พระอารามหลวงต่างๆ ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ และตั้งศาสนจักรของรัฐเป็นต้นแล้ว กษัตริย์ยังมีหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์โดยตรง โดยทรงแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะชั้นยศต่างๆ มอบที่ดิน ข้าทาส เบี้ยหวัดเงินเดือนหรือนิตยภัตแก่พระสงฆ์ตามลำดับศักดินาพระ และออกกฎหมายควบคุมวัตรปฏิบัติตามวินัยสงฆ์ มีบทลงโทษพระภิกษุที่ละเมิดวินัยสงฆ์ในลักษณะต่างๆ เช่น จับสึก เฆี่ยน สักหน้า และอื่นๆ 

เฉพาะสมัยรัชกาลที่ 3 พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 โดยขำ บุนนาค (หน้า 268) ระบุว่า ในช่วงเวลา 3 เดือนเกิดการชำระความพระสงฆ์ที่ประพฤติอนาจารมิควร จับสึก 500 กว่ารูป ในจำนวนนี้มีพระราชาคณะต้องอาบัติปาราชิกหลายรูป 

การประพฤติผิดวินัยสงฆ์เป็นข้ออ้างหลักของรัฐพุทธไทย ในการกระชับอำนาจปกครองพระสงฆ์มากขึ้นเรื่อยๆ 

หากเปรียบเทียบการปฏิรูปคริสต์ศาสนาในยุโรป พวกโปรเตสแตนท์อ้าง “หลักคำสอนที่ถูกต้อง” เพื่อปฏิเสธอำนาจศาสนจักรโรมันคาธอลิก ที่ผูกขาดการตีความคำสอน และอำนาจสันตะปาปาในการอภัยบาปแทนพระเจ้า ปฏิเสธการยกสถานะนักบวชให้สูงส่งกว่าฆราวาสที่อ้างว่านักบวชเป็น “สื่อกลาง” ระหว่างพระเจ้ากับฆาราวาส และยืนยันว่า “ฆราวาสและนักบวชมีสถานะเท่าเทียมกัน” ทุกคนเสมอภาคกันเบื้องหน้าพระเจ้า มีเสรีภาพเท่าเทียมกันในการตีความคำสอนในไบเบิล และยืนยัน “เสรีภาพแห่งมโนธรรม” (freedom of conscience) ของแต่ละคนในการตัดสินถูกผิดทางศีลธรรมและรับผิดชอบการกระทำของตนเบื้องหน้าพระเจ้า ดังนั้น การลงโทษหรือการอภัยบาปเป็นเรื่องระหว่างปัจเจกบุคคลกับพระเจ้าโดยตรง ไม่ใช่กงการอะไรที่สันตะปาปา นักบวช หรือศาสนจักรจะเข้ามาแทรกแซง 

การปฏิรูปศาสนาเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญที่ทำให้ยุโรปค่อยๆ ก้าวไปสู่การสร้างประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เพราะเมื่อคนมีเสรีภาพตีความคำสอนในไบเบิลได้ ก็มีเสรีภาพที่จะสร้างสรรค์และพัฒนาความรู้ทางปรัชญา วิทยาศาสตร์ และศาสตร์สมัยใหม่อื่นๆ โดยไม่ต้องถูกนำตัวขึ้นศาลศาสนาในฐานะ “พวกนอกรีต” อีกต่อไป

การยืนยันเสรีภาพแห่งมโนธรรม ก็นำไปสู่ความงอกงามขึ้นของแนวคิดปรัชญามนุษยนิยม (humanism), เสรีนิยม (liberalism) และแนวคิดโลกวิสัย (secularism) ที่ไม่เพียงแต่ยืนยันว่า “นักบวชกับฆราวาสมีสถานะเท่าเทียมกัน” ที่ทำให้วิถีชีวิตทางศีลธรรมของฆราวาสเป็นอิสระจากอำนาจทางศีลธรรมที่เหนืออว่าของพวกนักบวชเท่านั้น หากก้าวเลยไปถึงการยืนยันการแยกระหว่าง “ศรัทธา” กับ “เหตุผล” และการแยกระหว่าง “ทางศาสนา” (religious) กับ “ทางโลก” (secular) ซึ่งเป็นการทำให้ทุกอย่างที่เป็นเรื่องทางโลกเป็นอิสระจากอำนาจครอบงำ และอำนาจชี้นำทางศาสนา

เช่น ปรัชญา วิทยาศาสตร์ และศาสตร์สมัยใหม่ทั้งปวงสามารถสร้างความจริง ความรู้ คุณค่า ศีลธรรมขึ้นมาเองได้ และมีความเป็นเหตุเป็นผลเป็นสากลมากกว่าความจริงทางศาสนาที่ครอบงำยุโรปมานับพันปี ดังนั้น ระบบการเมืองการปกครอง จึงต้องอยู่บนพื้นฐานของความรู้และภูมิปัญญาทางโลก และจึงต้องแยกศาสนจักรจากรัฐ แยกศาสนาจากการมีอำนาจกำหนดวิถีชีวิตสาธารณะ ให้ศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ทำให้อำนาจทางการเมืองของศาสนจักรสิ้นสุดลง รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ปกครองด้วย “อำนาจเทวสิทธิ์” พังลง แทนที่ด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตยและรัฐโลกวิสัย 

แต่การปฏิรูปศาสนาของไทย ที่อ้างเรื่อง “รักษาคำสอนที่ถูกต้องตามไตรปิฎก” และ “ชำระวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์” กลับตรงกันข้าม เพราะไม่ใช่การปฏิรูปเพื่อปลดปล่อยให้พระสงฆ์มีอิสรภาพในการปกครองตนเองมากขึ้น แต่เป็นการที่รัฐ (กษัตริย์) “กระชับอำนาจ” ในการปกครองพระสงฆ์มากขึ้นโดยลำดับ กระทั่งทำให้พุทธศาสนากลายเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันหลัก คือสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือทำให้พุทธศาสนาไทยกลายเป็น “พุทธราชาชาตินิยม” ทั้งในเชิงอุดมการณ์และโครงสร้างสืบมาจนปัจจุบัน 

การปฏิวัติสยาม 2475 ก็ไม่เกิดแนวคิดโลกวิสัยมาตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา ทำให้บ้านเราไม่มีความคิดเรื่อง “แยกศาสนาจากรัฐ” นักประวัติศาสตร์บางคนมองว่า ที่ยุโรปเกิดแนวคิดโลกวิสัยและแยกศาสนาจากรัฐ เพราะมีปัญหาศาสนาหรือศาสนจักรคุมรัฐ หรือเป็นคู่แข่งกับรัฐ จึงต้องแยกศาสนาจากรัฐ เพื่อให้รัฐคุมศาสนาได้ด้วยระเบียบการเมืองแบบโลกวิสัย แต่ไทยรัฐคุมศาสนามาตลอดอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุจำเป็นให้เกิดแนวคิดการแยกศาสนาจากรัฐ

มุมมองดังกล่าวถูกเพียงบางส่วน แต่ความจริงซับซ้อนกว่านั้น เพราะแนวคิดโลกวิสัยและการแยกศาสนาจากรัฐ มันทำให้อำนาจทางการเมืองของศาสนจักร และระบบกษัตริย์ที่อิงอำนาจเทวสิทธิ์พังลง ยิ่งกว่านั้น เมื่อศาสนาแยกจากรัฐและอยู่ภายใต้ระเบียบการเมืองแบบโลกวิสัย มันไม่ใช่การที่รัฐคุมศาสนาแบบรัฐศาสนาเคยคุม แต่เป็นการที่รัฐไม่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกต่อไป เพราะรัฐโลกวิสัยยึดหลักความเป็นกลางทางศาสนา ให้หลักประกันเสรีภาพ ความเสมอภาคทางศาสนา และส่งเสริมขันติธรรมระหว่างศาสนา รัฐกับศาสนาจึงไม่ก้าวก่ายแทรกแซงกัน ยกเว้นเมื่อมีการใช้ศาสนา หรือความเชื่อใดๆ ในทางที่เป็นอันตรายต่อสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น หรือละเมิดกฎหมายที่ใช้เป็นการทั่วไปกับพลเมืองทุกคน

ส่วนที่ว่ารัฐไทยคุมศาสนาได้มาโดยตลอดนั้นจริง แต่เป็นการคุมบนหลักการของ “รัฐพุทธศาสนา” (ผสมพราหมณ์ ผี) ไม่ใช่คุมศาสนาด้วยหลักการและระเบียบการเมืองแบบโลกวิสัย ดังนั้น หลัง 2475 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา ยังเป็นไปตามแนวคิดที่ว่า “ในยุคก่อน 2475 รัฐในระบอบกษัตริย์อุปถัมภ์พุทธศาสนามาตลอด เมื่อเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตย รัฐประชาธิปไตยก็ต้องทำหน้าที่อุปถัมภ์พุทธศาสนาสืบไป” 

แนวคิดพื้นฐานดังกล่าวนี้เองที่เป็นแรงผลักดันให้บรรดาพระสงฆ์และชาวพุทธเคลื่อนไหวในวาระต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้รัฐกับศาสนาผูกพันกันในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายสงฆ์ กฎหมายอื่นๆ และงบประมาณของรัฐมากขึ้นโดยลำดับ โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์ “กลัวภัยพุทธศาสนา” ที่เชื่อกันว่าหาก “ภัย” นั้นทำลายพุทธศาสนาได้ ก็เท่ากับทำลาย “ชาติ” และ “สถาบันพระมหากษัตริย์” ได้ด้วย และเกิดความ “เสื่อมศรัทธา” ในพระสงฆ์ หรือแม้กระทั่งเกิดความรู้สึกว่าสังคม “เสื่อมศีลธรรม” ก็จะเกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐให้ความสำคัญกับการอุปถัมภ์ คุ้มครอง และส่งเสริมพุทธศาสนามากขึ้น

จนกระทั่งมีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้รัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์พุทธศาสนา และเน้น “พุทธเถรวาท” เป็นพิเศษ และเพราะปัญหาเรื้อรังทางการเมืองทำให้การปกครองของบ้านเราถูกตรึงอยู่ใน “ระบอบกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์” การแก้กฎหมายปกครองสงฆ์ครั้งล่าสุด (2561) จึงเป็นการกระชับ “พระราชอำนาจปกครองสงฆ์” ไปเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก สำนักการพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และสำนักพุทธฯ ประจำจังหวัดทุกจังหวัดคือหน่วยราชการทางพุทธศาสนาที่ใหญ่โตกว่า “กรมสังฆการี” ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีก

ยิ่งกว่านั้น ส.ส. พรรคเพื่อไทย ยังเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. ....” (https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_news.php?nid=65521) ซึ่งมีเนื้อหาขัดกับ “หลักการเสรีประชาธิปไตยและหลักการโลกวิสัย” ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะร่างดังกล่าวกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีตัวแทนฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาสเป็นกรรมการคณะต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการระดับสูงของกระทรวงต่างๆ ลงไปถึงระดับจังหวัด เทศบาลเมือง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาลตำบล รวมทั้งการจัดสรรคงบประมาณกองทุนอุปถัมภ์และส่งเสริมพุทธศาสนา 

ที่จริงแล้ว ร่างฯ ดังกล่าวนี้อาศัยอำนาจชอบธรรมจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ที่กำหนดให้รัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์และส่งเสริมพุทธศาสนาเถรวาทและศาสนาอื่นๆ นั่นเอง ขณะที่ความคิดของ กมธ. ศาสนาฯ เรื่องที่จะออกกฎหมายเอาผิดพระปาราชิกตามที่กล่าวข้างต้น ก็อิงกับ มาตรา 67 นี้เช่นกัน 

ยิ่งกว่านั้น กลุ่มชาวพุทธและพระสงฆ์ยังจัดทำข้อเสนอปฏิรูปกิจการพุทธศาสนาให้มหาเถรสมาคมพิจารณา สาระสำคัญคือ นอกจากจะต้องบังคับเรียนวิชาพระพุทธศาสนาแล้ว ยังต้องจัดบวชเณร/ชีพรหามณ์ภาคฤดูร้อนในระดับประถม, มัธยมต้น-ปลาย และระดับมหาวิทยาลัยด้วย โดยให้ถือว่าใครที่ไม่ผ่านการบวชดังกล่าวจะไม่มีสิทธิ์จบการศึกษาในระดับนั้นๆ ส่วนคนที่จะเป็น ส.ส. ก็ต้องบวชก่อน 1 เดือน ทำได้แบบนี้แล้วชาวพุทธ และ “พระ” (ระดับอธิการบดี, รองอธิการฯ ม.สงฆ์) เชื่อว่าจะทำให้สังคมมีศีลธรรมดีขึ้นอย่างแน่นอน  (ดูคลิปที่นี่ https://www.facebook.com/100024190535177/videos/4896204023841394)   

ดังนั้น การเคลื่อนไหวในทางที่จะทำให้มี “กฎหมายทางศาสนา” หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีมาตลอดจนถึงปัจจุบัน มีทั้งการเคลื่อนไหวนอกสภาและในสภา ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ทำให้มี “ความเป็นรัฐพุทธศาสนา” มากขึ้นโดยลำดับ หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ “ลดทอนความเป็นโลกวิสัย” ของรัฐลงโดยลำดับ สอดรับกับการทำรัฐประหารต่อเนื่องมาหลายๆ ครั้งที่ “ลดทอนความเป็นประชาธิปไตย” ลงโดยลำดับเช่นกัน

ประเด็นศาสนาและอำนาจทางการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงเป็นประเด็นท้าทายการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง และซับซ้อนมากขึ้น หากเราต้องการสร้างสังคมประชาธิปไตยแบบสังคมเจริญแล้ว ก็ชัดเจนว่าในสังคมที่ประชาธิปไตยก้าวหน้า เพราะเขาสร้างความเป็นประชาธิปไตยแบบโลกวิสัย (secular democracy) ได้สำเร็จ 

ส่วนประเทศที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐ คือประเทศที่ “อำนาจแบบศาสนา” ยังมีอิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมสูง สุขภาพของประชาธิปไตยมักไม่ค่อยดี ทำให้ประชาธิปไตยถูกลดทอน แคระแกร็น หรือไม่เติบโตงอกงามตามที่ควรจะเป็น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net