นักวิชาการชี้วิกฤตขาดแคลนอาหารโลกอาจเป็นโอกาสส่งออกไทย-ควรขยายบทบาทในองค์การอาหารโลก

นักวิชาการชี้วิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหารโลกอาจเป็นโอกาสส่งออกไทย คาดราคาหุ้นอาหารพุ่ง ต้องมีมาตรการรับความท้าทายวิกฤตราคาอาหารไม่ควรระงับส่งออก เดินหน้าเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ขยายบทบาทไทยในองค์การอาหารโลก (FAO)

29 พ.ค. 2565 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนแสดงความเห็นถึงวิกฤตการณ์อาหารโลกและ 30 กว่าประเทศระงับการส่งออกอาหาร ว่าผลกระทบสงครามระบอบปูตินรัสเซียยูเครน ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น การขาดแคลนปุ๋ยและวัตถุดิบอาหาร การเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ซื้อขายล่วงหน้า การชะงักงันของการขนส่งและห่วงโซ่อุปทาน การกีดกันการค้าสินค้าเกษตรด้วยระบบโควต้า และ ระงับการส่งออก ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น เกิดภาวะการขาดแคลนอาหารในประเทศที่ต้องนำเข้าอาหารจำนวนมาก การจำกัดและระงับการส่งออกอาหารในประเทศต่างๆกว่า 30 ประเทศแก้ปัญหาภายในประเทศตัวเองแต่ทำให้ปัญหาวิกฤตการณ์อาหารโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น ต้นทุนการแก้ปัญหาสูงขึ้นและไม่เกิดประสิทธิภาพ สงครามทำให้พื้นที่การผลิตข้าวสาลีและธัญพืชได้รับความเสียหาย และ ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ รวมทั้งไม่สามารถส่งออก โดยรัสเซียกับยูเครนเป็นสองประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกข้าวสาลีประมาณ 25-30% ของมูลค่าการค้าข้าวสาลีทั่วโลก ทำให้ประเทศนำเข้าข้าวสาลีอย่างไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อียิปต์ โมร็อกโก และเลบานอน มองหาประเทศส่งออกมาแทนที่รัสเซียและยูเครน เนื่องจากสงครามส่งผลให้ผลผลิตติดค้างในยูเครน ส่วนการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกทำให้การซื้อข้าวสาลีจากรัสเซียทำได้ยาก สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ จะทำให้ทั่วโลกหันไปพึ่งพาการนำเข้าข้าวสาลีจากอินเดีย เพื่อบรรเทาปัญหาดีมานด์ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด 

ล่าสุด อินเดียก็ต้องระงับการส่งออกข้าวสาลีและธัญพืชเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และ ป้องกันไม่ให้ราคาภายในปรับตัวสูงเกินไป ผลกระทบเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเกษตรกรรมและวิกฤติการขาดแคลนอาหาร ความมั่นคงทางอาหารย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ดันราคาข้าวสาลีทั่วโลกเพิ่มขึ้น 60% ราคาข้าวสาลี จาก 800 ดอลลาร์ ปรับขึ้นมาเกือบ 1,300 ดอลลาร์ (60-70%) ราคาข้าวโพดขึ้นสูงกว่า 760-780 ดอลลาร์ ทำให้ ต้นทุนการผลิตอาหารและอาหารสัตว์สูงขึ้นหมด แต่ไทยนำเข้าข้าวสาลีจากอินเดียไม่มาก ส่วนใหญ่ไทยนำเข้าจากจีน ราคาข้าวสาลีแพงขึ้นทำให้สินค้าที่ใช้ทดแทนกันอย่างผลิตภัณฑ์ข้าวต่างๆได้รับอานิสงส์
ราคานม ราคาน้ำตาล ราคาข้าว น้ำมันคาโนลา (สำหรับปรุงอาหาร) ราคาอาหารสัตว์ ราคาเนื้อสัตว์ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ดัชนีราคาขององค์การอาหารโลก (FAO Food Price Index) ของอาหารโดยภาพรวมช่วงเดือนมีนาคมเมษายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 158-159 เนื้อสัตว์อยู่ที่ 145-147 น้ำตาลอยู่ที่ 117-121 น้ำมันพืชอยู่ที่ 237-251 ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ หากดัชนีราคาอาหารสูงกว่า 100 คือ ราคาอาหารเพิ่มขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ราคาอาหารทั่วโลกรวมทั้งไทยปรับตัวสูงขึ้น เกิดภาวะการขาดแคลนอาหารและวิกฤตการณ์อาหารในบางประเทศ ส่วนการยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าและยกเลิกมาตรการภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ของรัฐบาลไทยจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ระดับหนึ่งในระยะสั้นเท่านั้น ขณะนี้มีปัญหาในทางปฏิบัติจากกลไกระบบราชการอยู่ที่มีขั้นตอนล่าช้าไม่ตอบสนองต่อสถานการณ์ 

คาดว่าวิกฤตอาหารโลกจะรุนแรงกว่ายาวนานกว่าวิกฤติพลังงาน และมีความเชื่อมโยงกัน ส่งผลกระทบต่อประชากรโลกระดับหลายพันล้านคน แม้นสงครามของระบอบปูตินยุติลงปลายปีนี้ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องระยะยาว ภัยแล้ง และ อุทกภัยครั้งใหญ่จะทำลายพื้นที่ทางการเกษตรเป็นระยะๆ ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านอาหารจึงมีความสำคัญมากต่อหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศนำเข้าอาหารและสินค้าเกษตร แม้นประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารแต่ก็ไม่ควรประมาท ควรมียุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารไว้ด้วย นอกเหนือจากการมุ่งสู่การเป็น “ครัวของโลก”  

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์การระงับการส่งออกอาหารเกิดขึ้นสำหรับในประเทศที่ผลิตอาหารไม่เพียงพอภายในประเทศ และ ต้องพึ่งพาการนำเข้า การระงับส่งออกอาหารและกักตุนอาหารจะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และ คาดว่าจะมีประเทศต่างๆดำเนินการในลักษณะดังกล่าวมากขึ้น การเปิดเสรีทางการค้าเกี่ยวกับสินค้าอาหารจะชะงักงันไประยะหนึ่ง การกำหนดโค้วต้าการส่งออก จนถึงการระงับการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกี่ยวเนื่องกันจะขยายวงเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป การสต๊อคอาหารและกักตุนอาหารก็จะเพิ่มขึ้นด้วย และ สถานการณณ์น่าจะยืดเยื้อไปถึงกลางปี พ.ศ. 2567 (กรณีเลวร้าย) กรณีพื้นฐานปลายปีนี้ก็น่าดีขึ้นแต่สงครามของระบอบปูตินต้องยุติ วิกฤติความมั่นคงทางอาหารครั้งนี้ต่างจากวิกฤติราคาอาหารโลกเมื่อปี พ.ศ. 2550-2551 ซึ่งวิกฤติคราวนั้นเป็นผลจากภัยแล้งรุนแรง และ การพุ่งขึ้นของราคาพลังงานเป็นหลัก รวมทั้งการใช้พลังงานชีวภาพที่เพิ่มขึ้น โครงสร้างการค้าและการผลิตสินค้าเกษตรที่กระจุกตัวในประเทศหลักๆไม่กี่ประเทศ สำหรับคราวนี้ สงครามยูเครนเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะยูเครนพื้นที่สงครามเป็นแหล่งผลิตธัญพืชส่งออกหลายตัว ตอนนี้ผลิตไม่ได้ เก็บเกี่ยวไม่ได้ กว่าจะทำการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวได้ตามปรกติคงต้องใช้เวลาอีกนานมากทีเดียว รอดูว่าสงครามและการหยุดยิงจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ส่วนการเก็งกำไรในตราสารอนุพันธ์สินค้าโภคภัณฑ์มีผลต่อการพุ่งขึ้นของราคาอาหารน้อยมากเมื่อเทียบกับวิกฤติราคาอาหารเมื่อปี พ.ศ. 2550

ราคาอาหารของโลกโดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 30-40% แล้วนับตั้งแต่สงครามยูเครนกับระบอบปูตินรัสเซียปะทุขึ้น กระทบผลผลิตเบื้องต้นไปแล้วไม่ต่ำกว่า 10-20% ปัญหาวิกฤติอาหารอาจใหญ่กว่าวิกฤติพลังงานและอาจใช้เวลาแก้ไขนานกว่า เป็นภัยคุมคามต่อประเทศยากจนทั่วโลกและประเทศพัฒนาแล้ว และ อาจนำไปสู่ความวุ่นวายทางสังคมรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ มีการประเมินโดยองค์การอาหารโลก FAO และของธนาคารโลก พบว่า คนจนในประเทศยากจน 10 ล้านคนจะถูกผลักให้อยู่ในฐานะ ยากจนรุนแรง ทันที จากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น 1% เพราะรายจ่ายในการซื้ออาหารคิดเป็นมากกว่า 50-60% ของรายได้ของคนเหล่านี้ และในช่วง 2 ปี จากการแพร่ระบาดของโควิด คนกลุ่มนี้ก็มีรายได้ลดลง หรือ ว่างงานมากว่า 2 ปีแล้ว

รศ.ดร.อนุสรณ์ ชี้ว่าสถานการณ์เช่นนี้เป็นโอกาสที่ดีของภาคส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรของไทย กรณีของไทยเราไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดโควตาหรือระงับการส่งออกในขณะนี้ แต่เราควรเร่งส่งออกหากผลิตเหลือใช้เหลือบริโภคจำนวนมาก และ ควรจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ. 2566 เพิ่มเติมให้กับภาคเกษตรกรรมและภาคการผลิตอาหารในการลงทุนวิจัย ลงทุนพัฒนาพันธุ์เพื่อให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งเดินหน้าสู่การเป็น ครัวของโลก เป็นศูนย์กลางภาคเกษตรกรรมคุณภาพสูงของโลก ถือเป็นการทำภารกิจเพื่อมนุษยชาติโดยรวม ไม่ได้ทำหยุดอยู่ที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแห่งชาติเท่านั้น นอกจากนี้ ไทยควรมีบทบาทเพิ่มขึ้นในองค์การอาหารโลก (Food and Agricultural Organization - FAO) เพื่อขจัดความหิวโหยและการเข้าถึงอาหารอันเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ 

ความต้องการสินค้าอาหารหลายชนิดจากไทยจะเพิ่มขึ้นทดแทนการส่งออกที่หายไปจากประเทศที่ระงับการส่งออก และ จะขายได้ราคาดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีธัญพืชบางตัว วัตถุดิบผลิตอาหารบางอย่างที่เราต้องนำเข้าก็จะได้รับผลกระทบ ของอาจแพงขึ้นมาก และ อาจขาดแคลนได้ เป็นปัญหาของโลกโดยรวม ล่าสุด ทางธนาคารโลกได้ประกาศแผนรับมือวิกฤติความมั่งคงอาหารโลก โดยอัดฉีดเม็ดเงินงบประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลลาร์ และได้ร่วมมือกับประเทศต่างๆเพิ่มปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร การผลิตปุ๋ย การชลประทาน เพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบอาหาร สนับสนุนด้านการค้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยเหลือครัวเรือนและผู้ผลิตที่เปราะบาง 
 
โดยภาพรวม ไทยได้ประโยชน์จากรายได้ส่งออกอาหารเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในช่วงนี้ ขณะเดียวกัน ราคาอาหารและค่าครองชีพในประเทศจะแพงขึ้นไปจนถึงปลายปีนี้  คาดว่า รายได้จากภาคส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด รัฐก็ควรไปหามาตรการหรือกลไกที่ทำให้รายได้เหล่านี้กระจายไปสู่ผู้ผลิตและเกษตรกรอย่างเป็นธรรม ส่วนผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากอาหารแพง คือ คนจน ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย เพราะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารจะคิดเป็นสัดส่วน 50-70% ของรายได้ของคนกลุ่มนี้ คนที่กระทบหนักสุด คือ คนจนเมือง รัฐอาจต้องจัดมาตรการสวัสดิการช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนมาก เช่น คูปองอาหาร เงินช่วยเหลือค่าครองชีพเพิ่มเติม เป็นต้น

อีกว่าราว 1 ใน 4 ของแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในการผลิตอาหารในยุโรปมาจากรัสเซีย การแสวงหาแหล่งวัตถุดิบเพิ่มเติมเพื่อผลิตปุ๋ยให้เพียงพอกับความต้องการในระยะเวลาที่สั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ต้นทุนในการเพาะปลูกของเกษตรกรจะพุ่งสูงขึ้น และผลผลิตจะมีปริมาณต่ำลงมากและดันให้ราคาอาหารทะยานสูงขึ้นทั่วโลก จำนวนมนุษย์ครึ่งหนึ่งของโลกรวมทั้งปศุสัตว์ที่มนุษย์เลี้ยงเพื่อนำมาบริโภคได้อาหารจากการใช้ปุ๋ย หากการขาดแคลนปุ๋ยเกิดขึ้นในเวลายาวนานจะทำให้ผลผลิตลดลงถึง 50% เวลานี้ รัฐบาลรัสเซียได้เรียกร้องให้บรรดาผู้ผลิตระงับการส่งออกปุ๋ย เราจะเห็นคนอดตายจากการขาดอาหารเพิ่มขึ้น รัสเซียเป็นผู้ผลิตสารอาหารสำหรับพืชรายใหญ่ เช่น แร่โปแตช (potash) และฟอสเฟต (phosphate) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในปุ๋ยที่ช่วยให้พืชผลมีผลผลิตตามเป้าหมาย บรรทษัทข้ามชาติสัญชาตินอร์เวย์ผลิตปุ๋ยไนโตรเจนอย่าง ยารา อินเตอร์เนชันแนล (Yara International) ซึ่งดำเนินธุรกิจปุ๋ยในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ซื้อวัตถุดิบดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ยจากรัสเซียและมีโรงงานผลิตขนาดใหญ่ในยูเครนที่เป็นพื้นที่สงคราม ก่อนหน้านี้ราคาปุ๋ยได้ปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้วจากราคาก๊าซในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นได้กล่าวเตือนว่าจะเกิดภาวะการขาดแคลนปุ๋ยและราคาปุ๋ยจะพุ่งสูงขึ้น สำหรับไทยซึ่งต้องนำเข้าปุ๋ยจำนวนมากจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือปัญหาการขาดแคลนปุ๋ย การเตรียมการเพื่อจัดซื้อล่วงหน้าเพื่อสต็อคของเอาไว้มีความจำเป็นเร่งด่วน และ คาดว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนปุ๋ยอย่างแน่นอน ในระยะยาวแล้ว ประเทศไทยควรต้องมีการลงทุนโครงการทางด้านผลิตปุ๋ยใช้เองเพื่อให้เกิดความมั่นคงและพึ่งพาตัวเองได้ รวมทั้งอาจมีความจำเป็นในการรื้อฟื้นโครงการปุ๋ยของอาเซียน 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังควรเดินหน้าเก็บภาษีการเก็งกำไรในตลาดคริปโตและการลงทุนในตลาดการเงิน โดยเก็บเฉพาะส่วนต่างหากมีกำไร ไม่ควรเก็บจากฐานธุรกรรม การเก็บภาษีดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายมิติ ทั้งรายได้เพิ่มขึ้นของรัฐ ลดการขาดดุลงบประมาณ การปรับโครงสร้างภาษีให้เก็บจากฐานทรัพย์สินมากขึ้น ลดการเก็งกำไรเกินขนาดอันจะนำมาสู่ฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจ การเลื่อนเก็บจะทำให้รัฐต้องทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มอีก เพิ่มหนี้สาธารณะของประเทศ ส่วนวิกฤติอาหารโลก บริษัทกลุ่มอาหารและเกษตรไทยได้อานิสงส์ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีฐานรายได้การส่งออกในสัดส่วนสูงได้ประโยชน์เต็มที่ คาดราคาหุ้นอาจปรับตัวเพิ่มได้อีก สี่บริษัทใหญ่ทางด้านอาหารและเกษตร บริษัทที่เน้นผลิตเพื่อส่งออก คือ บมจ ไทยยูเนียนกรุ๊ป (TU) คิดเป็นส่งออก 90% ของผลผลิต ส่วน บมจ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) มีธุรกิจในต่างประเทศกว่า 60% สามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายได้ ส่วน บมจ จีเอฟพีที (GFPT) มีการส่งออก 22%  บมจ ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) มีสัดส่วนการส่งออก 39% ของผลผลิต อย่างไรก็ตาม แม้นยอดส่งออกเพิ่มขึ้น แต่บริษัทเหล่านี้เผชิญต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทั้งอาหารสัตว์ (ราคาข้าวโพดและถั่วเหลืองสูงขึ้น) ทั้งต้นทุนขนส่ง 

อย่างกรณี การระงับส่งออกไก่ของมาเลเซีย จะทำให้บริษัทอย่าง CPF, GFPT, TFG ส่งออกไก่ได้มากขึ้นโดยเฉพาะตลาดสิงคโปร์และอินโดนีเซีย โดยปีที่ผ่านมา ไทยผลิตไก่ได้ 3.3 ล้านต้น บริโภคภายในเพียง 2.3 ล้านตัน เหลือส่งออก 1 ล้านตัน หากไทยสามารถเพิ่มการผลิตในปีนี้เป็น 3.5-3.6 ตันทำให้ยอดส่งออกเพิ่มเป็น 1.2-1.3 ล้านตัน ส่งออกเพิ่มขึ้นได้อีก 20-30% และมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของราคาภายในไม่มากนัก ไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดโควต้าส่งออก หากสามารถเพิ่มผลผลิตได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท