Skip to main content
sharethis

แม้ว่าปีนี้โลกจะเผชิญสงครามยูเครนที่ยืดเยื้อยาวนานและระบอบประชาธิปไตยในหลายประเทศก็พบกับความเสื่อมถอย แต่ปี 2565 ถือเป็นปีที่ระบอบอำนาจนิยมใน ‘รัสเซีย-จีน-อิหร่าน’ เผชิญกับความท้าทายพร้อมๆ กัน ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงในระยะอันใกล้ โอกาสนี้ ชวนอ่านบทวิเคราะห์จาก ‘แซ็ก โบชอง ‘นักข่าวอาวุโสด้านการเมืองโลก พูดถึงความ ‘เสื่อมถอย’ ของอำนาจนิยมในทั้ง 3 ประเทศ ร่วมถอดบทเรียน เพื่อจับตาทิศทางการเมืองโลกในปี 2566 ไปด้วยกัน

หรือนี่จะเป็นปีแย่ๆ ของรัฐอำนาจนิยม ?

คาร์ล ชมิตต์ นักทฤษฎีทางการเมืองที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของพรรคนาซีในสมัยสงครามโลกเคยพูดเอาไว้ว่า การเมืองนั้นมีแต่ "มิตรกับศัตรู" และปฏิบัติการทางการเมืองโดยรากฐานแล้วคือการสังหารศัตรูของตัวเอง ชมิตต์มีความคิดแบบมองโลกในแง่ร้ายสุดกู่ว่าโลกของประชาธิปไตยที่สงบสุขนั้นเป็นความเพ้อฝัน ถึงที่สุดแล้วการเมืองมันก็จะย้อนกลับมาที่ความโหดร้ายทารุณต่อกันของมนุษย์เสมอ ต้องไม่ลืมว่านี่คือความคิดจากบุคคลที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่สังหารผู้คนหลายล้านในสงครามโลก

แซ็ก โบชอง นักข่าวอาวุโสสายการเมืองโลกของสื่อ Vox เล่าถึงการที่เขาเคยรับฟังเกี่ยวแนวความคิดของชมิตต์จากวงสนทนาของนักข่าวและผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการต่างประเทศ ในคืนวันที่ 23 ก.พ. 2565 หนึ่งวันก่อนที่ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียจะประกาศทำสงครามต่อยูเครน อารมณ์ความรู้สึกในห้องสนทนาของเหล่านักคิดเต็มไปด้วยความมืดมน มีลางร้าย การที่ได้รับรู้เรื่องการประกาศสงครามของชาติที่ใหญ่กว่าต่อชาติที่เล็กกว่านั้น ชวนให้รู้สึกว่า โลกที่พวกเขาบางคนเคยเชื่อว่าได้ขับเคลื่อนด้วยระบอบประชาธิปไตยกำลังถลำลงสู่ห้วงแห่งความป่าเถื่อนแบบที่ชมิตต์เคยพูดไว้

แต่กรณีที่เกิดขึ้นกับยูเครนก็เป็นแค่หายนะชุดแรกต่อโลกประชาธิปไตยในปี 2565 นี้ ในบราซิล ที่นับเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 4 ของโลก การเลือกตั้งที่มีขึ้นเคยส่อเค้าว่าจะทำให้เกิดการก่อจลาจลใหญ่ๆ จากฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยแบบที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 ในสหรัฐฯ เอง ปีนี้ การเลือกตั้งกลางเทอมก็เคยส่อเค้าว่าจะเปิดทางให้เกิดการส่งเสริมอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งถัดไป แต่ทั้งสองอย่างนี้ก็ไม่เป็นจริง

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังอยู่ในขาลงอย่างต่อเนื่องมาตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของโลกดูเหมือนจะทำให้จีนกลายเป็นผู้นำในระเบียบโลกใหม่ แต่ทว่าเมื่อเหตุการณ์ต่างๆ ดำเนินมาจนถึงช่วงปลายปี 2565 เรื่องราวก็ดูจะเปลี่ยนไปในอีกทิศทางหนึ่ง มันแสดงให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยยังคงมีความสามารถในการพลิกฟื้นตัวเองขึ้นมาได้ ในทางตรงกันข้ามระบอบอำนาจนิยมที่กลับเป็นฝ่ายแสดงให้เห็นความเปราะบางออกมา เรื่องนี้โบชองมองว่าปี 2565 นี้เป็นปีที่ดีอย่างน่าประหลาดใจสำหรับประชาธิปไตย

ในยูเครน ปฏิบัติการสายฟ้าฟาดของรัสเซียก็ถูกตีโต้จนทำให้ล่าถอยไป กลายเป็นสงครามความขัดแย้งแบบประปรายในที่ต่างๆ ที่แม้ว่ายูเครนจะสูญเสียไปมาก แต่ก็สามารถโต้กลับและขับไล่รัสเซียทำให้มีการยึดพื้นที่คืนได้จำนวนมาก โดยที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศโลกประชาธิปไตยในยุโรปและอเมริกาเหนือ

ในบราซิล ผู้นำฝ่ายขวาที่พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งอย่างจาอีร์ บอลโซนาโร ก็พยายามจะล้มผลการเลือกตั้งแต่ไม่สำเร็จ การฟ้องร้องของเขาถูกพิพากษาว่าเป็น "การฟ้องคดีโดยไม่สุจริต" จนทำให้พรรคฝ่ายขวาของเขาถูกสั่งปรับเป็นเงินจำนวนมาก

ในสหรัฐฯ ผลการเลือกตั้งกลางเทอมก็ออกมาในรูปแบบที่พรรครีพับลิกันแพ้ในรัฐ "สวิง สเตท" ทุกรัฐ (รัฐที่มีการสนับสนุนพรรคสลับกันไปมาระหว่างรีพับลิกันกับเดโมแครต) ความพ่ายแพ้เช่นนี้อาจจะยิ่งทำให้ทรัมป์สูญเสียความนิยมในพรรคก็ได้

แม้แต่ในประเทศจีนและประเทศอำนาจนิยมที่มีอิทธิพลอย่างอิหร่าน ก็มีการประท้วงใหญ่ๆ เกิดขึ้น มีการเรียกร้องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเสรี ในจีนการประท้วงอาจจะเริ่มแผ่วลงบ้างแล้วแต่ก่อนหน้านี้นับว่ามีจำนวนผู้ประท้วงมากที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 2532 ขณะที่การประท้วงในอิหร่านยังคงมีความเข้มแข็งและส่งอิทธิพลต่อรัฐบาลได้

โบชองมองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนความรู้เก่าตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 20 คือการที่ประชาธิปไตยจะมีข้อได้เปรียบหลักๆ บางประการอยู่เหนือกว่าอำนาจนิยมเสมอ ระบอบอำนาจนิยมนั้นมีแนวโน้มไปในทาง "การคิดแบบติดกลุ่ม" (groupthink) นอกจากนี้ยังมีความเข้มงวดในอุดมการณ์ มักจะไม่ยอมหรือไม่สามารถที่จะประเมินข้อมูลได้อย่างเหมาะสมเพื่อที่จะเปลี่ยนทิศทาง ทั้งที่นโยบายเดิมที่มีอยู่นั้นได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามันกำลังก่อหายนะ

ในทางตรงกันข้าม ประชาธิปไตย มักจะเป็นสิ่งที่ได้รับการสนับสนุนโดยประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบอบนั้นอยู่แล้ว เป็นการสร้างปัญหาให้ขุมกำลังของอำนาจนิยมที่พยายามทำลายระบอบประชาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัด

ในแง่นี้ โบชองไม่ได้ต้องการสื่อว่า ประชาธิปไตยสามารถจะชนะทุกสิ่งทุกอย่างได้ในทุกประเทศอย่างแน่นอนขนาดนั้น เพราะประชาธิปไตยเองก็มีจุดอ่อน และจุดอ่อนเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่ขุมกำลังฝ่ายอำนาจนิยมที่อาศัยอยู่ในรัฐประชาธิปไตยฉวยโอกาสนำมาใช้อย่างซ้ำๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในปี 2565 คือการเลือกตั้งในฮังการี, อิสราเอล และในฟิลิปปินส์ ต่างก็แสดงให้เห็นว่า ปัญหาของระบอบอำนาจนิยมยังคงทนและมีความเข้มแข็งอยู่

แต่ถ้าหากลองมองเหตุการณ์โลกในปี 2565 ดูแล้ว ในกลุ่มประเทศใหญ่ๆ และมีอิทธิพลมาก เรื่องราวจะออกไปในทางที่ดีมากกว่า จากการที่รัฐบาลอำนาจนิยมที่ทำเหมือนจะโค่นล้มประชาธิปไตยได้ กลับเป็นฝ่ายตกต่ำลงเสียเอง ในขณะที่ประเทศประชาธิปไตยใหญ่ๆ สามารถสกัดกั้นปัญหาภายในใหญ่ๆ เอาไว้ได้ ทำให้ปี 2565 เป็นปีที่ไม่บ่อยครั้งนักที่จะพูดได้ว่า เป็นปีที่ดีพอสมควรทีเดียวสำหรับประชาธิปไตยโลก

'สงครามยูเครน' สะท้อนจุดอ่อน 'รัสเซีย'

บทความของโบชอง ยังได้มีการแจกแจงในเรื่องของอำนาจนิยมในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยูเครน, อิหร่าน หรือจีน ที่ต่างก็สะท้อนให้เห็นปัญหาของอำนาจนิยม เช่นในกรณีสงครามของยูเครนได้สะท้อนให้เห็นจุดอ่อนของรัสเซีย

ถึงแม้ว่าจะเคยมีการคาดเดาว่ารัสเซียน่าจะสามารถเอาชนะยูเครนได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม การโจมตีแบบสายฟ้าฟาดของรัสเซียต่อยูเครนที่หวังผลว่าจะทำให้ยูเครนไม่ทันตั้งตัวและต้องถอยร่นไปนั้นก็ไม่เป็นไปตามที่หวัง ฝ่ายยูเครนกลับสามารถฉวยโอกาสจากจุดอ่อนของรัสเซียในการโต้กลับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่รัสเซียส่งการสนับสนุนมาแนวหน้าไม่มากพอหรือความหละหลวมด้านการคุ้มกันห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ยูเครนสามารถโต้กลับและยึดพื้นที่คืนจากรัสเซียมาได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง

ส่วนหนึ่งที่ทำให้รัสเซียเพลี่ยงพล้ำคือตัวระบอบอำนาจนิยมในประเทศตัวเอง การที่หน่วยงานข่าวกรองของรัสเซียรายงานแบบเอาใจนายว่าประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนได้รับการสนับสนุนน้อย ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดความล้มเหลว แต่โดยหลักๆ แล้วความล้มเหลวมาจากผู้ที่กุมอำนาจบาตรใหญ่ในรัสเซียคือตัว วลาดิเมียร์ ปูติน เอง

หน่วยงานข่าวกรองของรัสเซียพยายามเอาใจประธานาธิบดีปูตินด้วยการยืนยันความเชื่อที่ว่ายูเครนไม่ได้นับเป็นประเทศอย่างแท้จริงและเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของรัสเซียโดยชอบธรรม ทำให้ปูตินมองไม่เห็นในเรื่องที่ฝ่ายยูเครนมีความยึดมั่นในชาติของตัวเองและมีความเข้มแข็ง มีนักวิเคราะห์ระบุว่า ปูตินถึงขั้นเชื่อจริงๆ ว่ารัสเซียจะสามารถดำเนินปฏิบัติการพิเศษทางการทหารได้ในเวลาไม่กี่วันก็จะสามารถยึดยูเครนได้โดยไม่มีสงคราม

นอกจากนี้ วิธีการตัดสินใจที่เกิดจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ใกล้ชิดกับปูตินเพียงไม่กี่คนโดยขาดความโปร่งใส ทำให้ผู้คนในรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่รู้แผนการต่อไป จนทำให้ขาดแผนสำรองเวลาที่มีความผิดพลาด การมองแต่ว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จเท่านั้นก็เป็นส่วนที่ทำให้รัสเซียเพลี่ยงพล้ำ อีกทั้งการที่ปูตินเน้นอำนาจนิยมแบบตัวบุคคล ปราบปรามฝ่ายต่อต้านก็ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าใจสภาพความคิดจิตใจที่แท้จริงของประชาชนตัวเอง ทำให้คนไม่กล้าวิจารณ์ความคิดของปูตินถึงแม้ว่ามันจะผิดพลาด

ประท้วงอิหร่าน

ปะทุรุนแรงจาก 'ปัญหาสะสม'

สำหรับกรณีของอิหร่านนั้นมีการประท้วงต่อต้านอำนาจนิยมทั่วประเทศ เหตุเกิดจากการเสียชีวิตของผู้หญิงที่ชื่อ มาห์ซา อามินี ที่มีพยานระบุว่าเธอถูกทุบตีโดยตำรวจในที่คุมขังจนเสียชีวิตเพียงเพราะเธอสวมฮิญาบผิดแบบ ข่าวเรื่องการเสียชีวิตของเธอจุดชนวนให้เกิดการประท้วงแพร่สะพัดไปทั่ว ฝ่ายรัฐบาลอิหร่านก็ทำการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างหนักไม่ว่าจะจากการใช้กระสุนจริงแบบไม่เจาะจงเป้าหมาย รวมถึงการใช้โทษประหารชีวิตผู้ประท้วงจำนวนหนึ่ง

แต่ความรุนแรงและการลงโทษอย่างเหี้ยมโหดจากฝ่ายรัฐบาลอิหร่านก็ไม่ทำให้ผู้ชุมนุมล่าถอย โบชองระบุว่าอาจจะยังไม่ถึงขั้นที่จะบอกได้ว่ารัฐบาลอิหร่านจะใกล้ล่มสลายหรืออะไรแบบนั้น ก่อนหน้านี้อิหร่านก็เคยมีประท้วงใหญ่เมื่อปี 2561-2563 แต่ระบอบเดิมของอิหร่านก็ยังคงมีอยู่ การประท้วงครั้งใหม่นี้มีประเด็นที่ตกค้างมาจากความไม่พอใจรัฐบาลหลายประเด็นแล้ว กลุ่มผู้หญิงที่ต่อต้านนโยบายการบังคับสวมฮิญาบ ความไม่พอใจระบอบการเมืองที่ผู้คนมองว่าการเลือกตั้งมีการล็อกผลโดยกลุ่มผู้นำของประเทศ

โบชองระบุว่าการประท้วงในอิหร่านสะท้อนให้เห็นปัญหาเรื่องข้อมูลข่าวสารในประเทศอำนาจนิยมในอีกรูปแบบหนึ่ง คือการที่มันทำให้เป็นเรื่องยากในการระบุถึงปัญหาที่กัดกินประเทศอยู่ แล้วดำเนินนโยบายไปตามนั้นจนกระทั่งปัญหาบานปลายจนกลายเป็นวิกฤต สังคมมีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อน อำนาจนิยมทำให้เกิดความยากลำบากในการค้นหาว่ามีอะไรผิดพลาดแล้วตัดสินใจว่าจะแก้ไขปัญหาด้วยวิธีอะไร

ในทางตรงกันข้าม การที่มีสถาบันหลักของประชาธิปไตย อาทิเช่น สื่อเสรี และการเลือกตั้งที่เป็นไปอย่างปกติทั่วไป จะทำให้เกิดกลไกสำหรับผู้กำหนดนโยบาย ให้สามารถรับรู้ข้อมูลจากประชาชนและปรับตัวไปตามนั้น แต่สำหรับรัฐบาลอำนาจนิยมอย่างอิหร่านที่มีการกดทับความคิดเห็นต่อต้านรัฐบาลจะนำไปสู่วิกฤตได้โดยที่แม้แต่รัฐบาลก็ไม่รู้ตัว

ดังที่ อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์และนักปรัชญาจากฮาร์วาร์ดเคยเขียนไว้ในหนังสือ "การพัฒนาและเสรีภาพ" ในปี 2542 ว่า "สื่อเสรีและการที่มีฝ่ายค้านทางการเมืองที่แข็งขันจะกลายเป็นระบบการเตือนล่วงหน้าที่ดีที่สุดสำหรับประเทศที่เสี่ยงต่อภาวะอดอยากแร้นแค้น"

'โควิดเป็นศูนย์' ในจีน

สะท้อนจุดอ่อน 'อำนาจนิยม'

เซนเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ไม่เคยมีประเทศประชาธิปไตยประเทศใดเลยที่เคยประสบกับความอดอยากแร้นแค้น ในทางตรงกันข้ามเซนได้ยกตัวอย่างกรณีของจีนที่เคยประสบปัญหาความอดอยากแร้นแค้นในช่วงระหว่างปี 2501-2504 ที่มีนโยบายการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ (The Great Leap Forward) ที่ประธานพรรคคอมมิวนิสต์เหมาเจ๋อตุงทำการปฏิรูปเกษตรกรรมที่ก่อหายนะครั้งแล้วครั้งเล่าจนทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 30 ล้านราย นับเป็นภาวะอดอยากแร้นแค้นที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์

หลังจากนั้นในอีกหลายปี จีนก็หันมาหาเศรษฐกิจเสรีแต่ก็ไม่ได้มีการให้เสรีภาพทางการเมืองด้วย ทำให้จีนกลายเป็นระบอบแบบทุนนิยมโดยรัฐ หลังจากที่จีนล้มเหลวในการสกัดกั้นการระบาดหนักของ COVID-19 ในเมืองอู่ฮั่นจนทำให้กลายเป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก จีนก็แก้ไขปัญหาในบ้านตัวเองได้บ้างในช่วงแรกๆ จนถึงขั้นทำให้รัฐบาลสีจิ้นผิงอ้างเอามาเป็นผลงานโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลตัวเองแล้วเอาไปเปรียบเทียบว่าทุนนิยมโดยรัฐอย่างพวกเขาดีกว่าเสรีนิยมประชาธิปไตย

แต่ในช่วงหลังของปี 2565 นโยบายแก้ไขปัญหา COVID-19 ของจีนที่ชื่อว่า "นโยบายโควิดเป็นศูนย์" ก็กลับสร้างปัญหาใหญ่ เพราะการล็อกดาวน์และปิดสำนักงานในแบบที่เข้มงวดมากเกินไปทำให้ผู้คนไม่พอใจและก่อปัญหาต่อเศรษฐกิจของจีน

อีกทั้งการที่รัฐบาลจีนดันทุรังที่จะใช้วิธีการในแบบของตัวเอง มีการจำกัดการให้วัคซีน มีการเน้นให้วัคซีนของที่ผลิตในบ้านตัวเองอย่างซิโนแวคและปฏิเสธวัคซีน mRNA ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าจากตะวันตก ทำให้ก่อปัญหาการระบาดของโรคในครั้งหลังๆ นี้ด้วย จากการที่เชื้อที่กลายพันธุ์อย่างสายโอมิครอนระบาดหนักในจีนช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้เมืองเศรษฐกิจใหญ่ๆ อย่างเซี่ยงไฮ้อยู่ภายใต้การล็อกดาวน์เป็นเวลาหลายสัปดาห์ ยิ่งส่งผลให้ประชาชนสั่งสมความไม่พอใจมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์น่าเศร้าเกิดขึ้นในอุรุมฉี เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองซินเจียง พื้นที่ที่ชาวอุยกูร์ถูกกดขี่จากทางการจีน ที่มีเหตุไฟไหม้อาคารที่พักที่เป็นแหล่งล็อกดาวน์จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย โดยที่ชาวจีนจำนวนมากเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิตได้ถ้าหากรัฐบาลอนุญาตให้ประชาชนมีสิทธิในการเดินทางออกจากอาคารที่พัก

โบชองมองว่าเหตุเพลิงใหม้ที่อุรุมฉี เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการประท้วงทั่วประเทศแบบเดียวกับเหตุการณ์เสียชีวิตของ มาห์ซา อามินี ในอิหร่าน ที่ไม่เพียงแค่จะทำให้เกิดการประท้วงในประเด็นที่เป็นเหตุอย่าง นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลเท่านั้น ประชาชนจีนจำนวนมากยังกล่าวหาว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรมในอุรุมฉี และถึงขั้นเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าการประท้วงจะไม่ใหญ่พอจะถึงขั้นทำให้เป็นภัยอะไรต่อรัฐบาล แต่ในช่วงเดือน ธ.ค. รัฐบาลก็ต้องยอมให้ประชาชนบ้างด้วยการผ่อนปรนข้อจำกัดเกี่ยวกับการควบคุมโรค COVID-19

เรื่องนี้ยังได้สะท้อนให้เห็นปัญหาเรื่องข้อมูลข่าวสารในรัฐบาลเผด็จการด้วยว่า มันทำให้พวกเขามองไม่เห็นความไม่พอใจของผู้คน ทำให้ประชาชนชาวจีนเริ่มเล็งเห็นว่าพวกเขาควรประณามนโยบายที่ล้มเหลวของรัฐบาลในที่สุด มีเสียงตะโกนคำขวัญในเซี่ยงไฮ้ที่ระบุว่า "พวกเราไม่ต้องการเผด็จการ พวกเราต้องการประชาธิปไตย พวกเราไม่ต้องการผู้นำ พวกเราต้องการการเลือกตั้ง" มีผู้ประท้วงบางคนถึงขั้นประกาศว่า "พวกเรายืนหยัดเคียงข้างผู้หญิงอิหร่าน"

เรียบเรียงจาก:

  • A bad year for the bad guys, Vox, 19-12-2022

https://www.vox.com/policy-and-politics/2022/12/19/23453073/2022-year-democracy-russia-ukraine-china-iran-america-brazil

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net