Skip to main content
sharethis

กสม. เตรียมเปิดรายงานอุ้มหาย 9 กรณี ต่อครอบครัวผู้ถูกอุ้มหายและสาธารณะ 10 มิ.ย. นี้  ได้แก่ กรณีของได้แก่ อิทธิพล สุขแป้น, วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์,  ไกรเดช ลือเลิศ, ชัชชาญ บุปผาวัลย์, สยาม ธีรวุฒิ, ชูชีพ ชีวะสุทธิ์, กฤษณะ ทัพไทย และวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยมี ทวี สอดส่อง รัฐมนตรียุติธรรม เป็นผู้รับมอบรายงานและดำเนินการต่อไป

 

7 มิ.ย. 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงาน วันที่ 10 มิ.ย. นี้ เวลา 13.00 น. ณ ห้องเสวนา ชั้น 6 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะมีการแถลงข่าวนำเสนอผลจากรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีการบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้าน 9 กรณี โดยมี ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้นำเสนอ ภายหลังการนำเสนอ ผู้แทนญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหายจะขึ้นกล่าวถึงผลกระทบที่บุคคลในครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายต้องเผชิญ และจะมีการมอบรายงานฉบับดังกล่าวให้แก่ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อดำเนินการต่อ และจะกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ถึงบทบาทของคณะกรรมการภายใต้พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว รวมทั้งเสนอมาตรการเพื่อจัดการแก้ไขปัญหากรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย

งานแถลงข่าวครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการสืบสวนสอบสวนของกสม. กรณีการบังคับให้ผู้ลี้ภัยชาวไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านจำนวน 9 รายสูญหาย ได้แก่ อิทธิพล สุขแป้น, วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์,  ไกรเดช ลือเลิศ, ชัชชาญ บุปผาวัลย์, สยาม ธีรวุฒิ, ชูชีพ ชีวะสุทธิ์, กฤษณะ ทัพไทย และวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งนี้ ครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายกรณีข้างต้น ได้รับเชิญให้เข้าร่วมรับฟังและหารือเกี่ยวกับผลกระทบที่ครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายได้รับ ความต้องการของผู้เสียหาย และขั้นตอนที่ต้องดำเนินการเพื่อจัดการปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเหล่านี้

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้กล่าวถึงรายงานของกสม. ฉบับนี้ภายในวงเสวนางานรำลึก 4 ปีการบังคับสูญหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ “คิดฮอดเด้อ: 4 ปี วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ มิดซีลี่” ว่ารายงานฉบับดังกล่าวกสม. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อจัดทำรายงาน โดยได้ดำเนินการอย่างอิสระในการค้นหาความจริง งานแถลงข่าวนี้ถือเป็นวันที่สำคัญอย่างยิ่งต่อผู้เสียหายทั้งหมด แม้ว่าการค้นหาความจริง 9 กรณีของผู้สูญหายจะมีความล่าช้า และความล่าช้าคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกรูปแบบหนึ่ง แต่แต่รายงานฉบับนี้จะเป็นอีกหนึ่งหลักฐานชิ้นหนึ่งที่จะยืนยันว่ามีการบังคับให้สูญหายบุคคลทั้ง 9 คนจริง และเป็นกรณีที่เข้าข่ายตามพ.ร.บ. ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย นอกจากนี้ พรเพ็ญย้ำว่ากสม. ควรเปิดเผยรายละเอียดข้อเท็จจริงให้กับสาธารชนทราบ รวมถึงรัฐบาล พรรคการเมือง และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะเปิดเผยข้อมูลเฉพาะรายต่อญาติซึ่งเป็นสิทธิสำคัญในการรู้ความจริง (Right to truth) เพื่อการนำคนผิดมาลงโทษ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED)  และจะมีผลหลังการให้สัตยาบัน 30 วัน ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการป้องกันและคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหาย โดยการที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาฉบับนี้จะส่งผลให้ประเทศไทยมีพันธกรณีในการปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าว นอกจากนี้อนุสัญญาฯ ยังกำหนดให้รัฐภาคีอย่างประเทศไทยต้องเสนอรายงานว่าด้วยมาตรการต่างๆ ในการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ เพื่อให้สิทธิที่รับรองไว้ในอนุสัญญาฯ เป็นจริง โดยจะต้องนำส่งรายงานฉบับแรกให้กับคณะกรรมการอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองไม่ให้บังคับบุคคลสูญหาย (CED) ภายใน 2 ปี นับแต่อนุสัญญาฯมีผลบังคับใช้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเชิญชวนสื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวนำเสนอผลรายงานฉบับดังกล่าวต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อยืนหยัดเคียงคู่กับครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายในเวลาที่สำคัญเช่นนี้ และเป็นสักขีพยานในความก้าวหน้าที่ทางหน่วยงานรัฐไทยได้ดำเนินการให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED) เพื่อร่วมกันป้องปรามและยุติการบังคับบุคคลให้สูญหายไม่ให้เกิดขึ้นกับบุคคลได้อีก และเพื่อให้มั่นใจว่าครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายจะได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริงในที่สุด

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net