สุรพศ ทวีศักดิ์: นักบวชคืออาชีพ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในหนังสือ “ประชาธิปไตยในอเมริกา” ของอเล็กซิส เดอ ต็อกเกอวิลล์ (Alexis De Tocqueville) ฉบับแปลไทย (หน้า 287) ระบุว่า “นักบวชคืออาชีพ” แบบหนึ่งว่าพระผู้ปฏิบัติตามพระคัมภีร์ ในฐานะที่มีอาชีพในการอุทิศตนให้แก่การรับใช้พระผู้เป็นเจ้า และมีหน้าที่ดูแลเอาใจใส่ในเรื่องการเป็นผู้นำวิญญาณ ย่อมไม่สามารถมีตำแหน่งราชการได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะทางพลเรือน หรือทหาร กฎหมายในหลายมลรัฐปิดประตูมิให้พระมีอาชีพทางการเมือง

การที่กฎหมายในหลายมลรัฐปิดประตูมิให้พระมีอาชีพทางการเมือง เข้าใจได้ว่าเป็นอิทธิพลของแนวคิดโลกวิสัย (secularism) ที่ยืนยัน “การแยกศาสนาจากรัฐ” ซึ่งหมายถึง การแยกอำนาจทางการเมืองกับศาสนาออกจากกัน และแยกศาสนจักรจากรัฐ เพราะยุคกลางที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐ นักบวชคืออาชีพที่มีทั้งฐานันดรศักดิ์ และตำแหน่ง อำนาจทางการเมือง เมื่อแยกศาสนาจากรัฐตามแนวคิดโลกวิสัย จึงต้องเอาศาสนา ซึ่งรวมทั้งปรัชญาการเมืองแบบศาสนา, กฎหมายศาสนา, ศาลศาสนา, นักบวช, ศาสนจักรออกไปจากการมีอำนาจรัฐ หรือทำให้ศาสนาไม่เกี่ยวข้อง หรือมีอิทธิพลครอบงำอำนาจรัฐ การเมือง และเรื่องสาธารณะอื่นๆ อีกต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ผลของการต่อรองในบริบทของสังคมประชาธิปไตยตะวันตก ทำให้ต่อมาบางรัฐนักบวชมีตำแหน่งทางการเมืองได้ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย เฉพาะอังกฤษนักบวชระดับสูงของนิกายอังกลิคันเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง แต่ก็ถูกต่อต้านโดยสมาคมโลกวิสัยแห่งชาติ (National Secular Society) ที่อ้าง “แนวคิดโลกวิสัย-การแยกศาสนาจากรัฐ” รณรงค์ให้ยกเลิกตำแหน่งทางการเมืองบน “อภิสิทธิ์” ทางศาสนาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าโดยความคิดหรือหลักการโลกวิสัยที่เน้น “ความเป็นกลางทางศาสนา” รัฐต้อง “ไม่เลือกปฏิบัติ” ด้วยเหตุผลทางศาสนา 

ตัวอย่างเช่น เมื่อบุคคลในอาชีพอื่นๆ ไม่ว่าข้ารัฐการหรือเอกชนจะเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองต้องลาออกจากอาชีพเดิม จะยกเว้นให้อาชีพนักบวชไม่ต้องลาออกอยู่อาชีพเดียว ก็ย่อมเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลของความเชื่อทางศาสนา เช่น การใช้ข้ออ้างที่ยืนยัน “ความพิเศษ” ของอาชีพนักบวชว่าเป็นตัวตนหรือวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณบ้างอะไรบ้าง จึงไม่ใช่จะลาออกได้ง่ายๆ หรือไม่ควรลาออกเหมือนอาชีพอื่นๆ (แต่ตามความเป็นจริงมีการสละสถานะนักบวชมามีเมีย รับราชการ และประกอบอาชีพอื่นๆ เป็นปกติมาแต่ไหนแต่ไร)  

การอ้าง “ความพิเศษ” ของสถานะนักบวชดังกล่าว คือการติดกับดัก “เรื่องเล่าหลัก” (grand narrative) ที่บรรดานักบวชสร้างขึ้นให้ผู้คนเชื่อฝังหัวมายาวนาน โดยเฉพาะในวัฒนธรรมพุทธศาสนาไทยไม่เคยที่จะยอมรับความจริงกันเลยว่า นักบวชหรือพระคืออาชีพแบบหนึ่งเหมือนอาชีพอื่นๆ ทั่วไป การไม่ยอมรับความจริงนี้ ก็เพื่อที่จะรักษา “มายาคติ” ว่านักบวชพุทธมีสถานะสูงส่งสะอาดหมดจดกว่าคนทั่วไป (รวมทั้งสูงส่งกว่านักบวชและผู้นำศาสนาอื่นๆ ด้วย) เพราะนักบวชคือผู้ละการครองเรือน ละทางโลก มุ่งขัดเกลากิเลสเพื่อความหลุดพ้น และเป็น “เนื้อนาบุญ” อันประเสริฐของชาวโลก 

แต่ที่จริงนักบวชพุทธไทยก็ไม่ต่างจากนักบวชคริสต์ เช่นที่สมเกียรติ วันทะนะเขียนไว้ในหนังสือ “กำเนิดและความเปราะบางของเสรีประชาธิปไตย” (หน้า 31) ว่า ก่อนการปฏิวัติ ฝรั่งเศสมี 3 ฐานันดร (estates) คือ ฐานนันดรที่ 1 นักบวช ฐานันดรที่ 2 ชนชั้นสูง และฐานันดรที่ 3 ชาวฝรั่งเศสที่เหลือราว 96% สองฐานันดรแรกคือพวกอภิสิทธิ์ชน นักบวชพุทธไทยยุคศักดินาก็มีสมณศักดิ์ฐานันดรชั้นยศต่างๆ ที่ได้รับเบี้ยหวัดเงินเดือนหรือนิตยภัต และได้รับบริจาคที่ดิน และข้าทาสจากกษัตริย์ จนหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สมณศักดิ์ฐานันดรก็ไม่ได้ถูกยกเลิกไป อีกทั้งระบบศาสนจักรของรัฐยังกำหนดให้นักบวชมีอำนาจทางกฎหมาย และรับภาษีอุปถัมภ์จากรัฐอีกด้วย 

จึงชัดเจนว่า นักบวชพุทธไทยคืออาชีพแบบหนึ่งที่มีฐานันดรศักดิ์ อำนาจทางกฎหมาย มีเงินนิตยภัตรายเดือน รับภาษีอุปถัมภ์กิจการศาสนาจากรัฐ และมีรายได้จากตลาดศรัทธาศาสนา แม้ไม่ใช่นักบวชทุกรูปที่มีที่เป็นเช่นนั้น แต่นั่นคือ “ระบบเส้นทาง” ไต่เต้าสู่ตำแหน่ง ยศศักดิ์ สถานะอำนาจที่สูงขึ้นในศาสนจักรของรัฐ ซึ่งเป็นเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพนี้ ไม่ต่างจากอาชีพราชการทางโลก 

ผมแปลกใจที่บางคนพยายามแย้งว่า นักบวชไม่ใช่อาชีพ เพราะไม่มีเงินเดือน เพราะในความหมายอย่างกว้าง “อาชีพ” ไม่ได้หมายความว่าต้องมีเงินเดือนเสมอไป บางอาชีพก็มีรายได้รายวัน บางอาชีพก็รอผลผลิตรายปี ยังมีอาชีพที่เป็นกิจการของตัวเอง เป็นวิถีชีวิตของผู้คน การเป็นนักบวชก็เป็นอาชีพแบบหนึ่งที่ใช้ “ทุนทางศาสนาและวัฒนธรรม” เลี้ยงตัวและสร้างรายได้ในตลาดศรัทธาศาสนา และยังมียศ ตำแหน่ง อำนาจ ผลประโยชน์ ชื่อเสียง เกียรติยศอื่นๆ อีกมาก 

จึงไม่แปลกเลยที่มักจะเป็นข่าวว่า หลังจากที่พระมีชื่อเสียงบางรูปมรณภาพ ลูกศิษย์และญาติๆ พบเงินนับล้านซุกอยู่ใต้พรมและซอกมุมในห้องนอน หรือพระดังบางคนสึกมามีเรื่องดราม่า สังคมจึงทราบว่า ตอนเป็นพระเขามีเงินซื้อที่ดินให้ญาติๆ หลายร้อยไร่ หรือ “คนสนิท” ของพระราชาคณะระดับ “สมเด็จ” มีรถหรูหลายคัน ใช้ของแบรนด์เนม และยักยอกเงินพระ เงินวัดกว่า 200 ล้าน เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาชีพนักบวชรายได้ดีมากทีเดียว

ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรเลยที่เราจะยอมรับ “ความจริง” ตรงไปตรงมาว่า อาชีพนักบวชก็คือ “อาชีพธรรมดาๆ” เหมือนอาชีพทั่วๆ ไป แต่เพราะอิทธิพลของ “เรื่องเล่า” ที่บรรดานักบวชสร้างขึ้นให้พวกเขามีสถานะ “พิเศษ” ที่สูงส่งกว่าคนธรรมดาว่า เป็นผู้ปล่อยวาง ละกิเลส ไม่ยุ่งทางโลก มุ่งปฏิบัติพรหมจรรย์สู่ความสะอาดมดจดทางจิตวิญญาณ และเป็น “เนื้อนาบุญ” ของชาวโลก จึงทำให้เราคิดหรือเชื่อว่านักบวชไม่ใช่อาชีพ ทั้งๆ ที่อาชีพนี้เป็นอาชีพที่รับใช้ชนชั้นปกครองมาเป็นพันๆ ปี หรือเป็นอาชีพของพวกอภิสิทธิ์ชนมาเป็นพันๆ ปี 

นอกจากนี้ ในบ้านเรารัฐธรรมนูญยังห้ามไม่ให้นักบวชมีสิทธิเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลเรื่องยกสถานะของนักบวชไว้สูงส่งเหนือคนธรรมดา ไม่อยากให้แปดเปื้อนการเมือง แปดเปื้อนทางโลก อ้างว่านักบวชต้อง “อยู่เหนือการเมือง” ไม่ยุ่งการเมือง แต่อำนาจศาสนจักรของรัฐกลับกำหนดให้นักบวชมีหน้าที่สอนประชาชนให้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อวยคุณธรรมความดีและบุญคุณของศักดินา

แต่หากมองจากกรอบคิดโลกวิสัย นักบวชคืออาชีพธรรมดาแบบหนึ่ง ไม่ได้มีความ “พิเศษ” เหนืออาชีพอื่นๆ ดังนั้น ในการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง หากอาชีพอื่นๆ ต้องลาออก อาชีพนักบวชก็ต้องปฏิบัติแบบเดียวกัน การยกเว้นเฉพาะอาชีพนักบวชจะอธิบายเป็นอื่นไม่ได้นอกจากเป็น “การเลือกปฏิบัติ” ด้วยเหตุผลทางศาสนาที่มีนัยสำคัญเป็นการยกให้อาชีพนักบวชมีความพิเศษ หรือมี “อภิสิทธิ์” เหนืออาชีพอื่นๆ อันเป็น “สำนึกตกค้าง” มาจากยุคเก่าแบบอัตโนมัติ

บางคนว่า จะเป็นไรไป หากนักบวชจะมีตำแหน่งเป็น ส.ส., นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่นี่อาจเป็นการเข้าใจผิดว่า “ประชาธิปไตย=โลกวิสัย” ในประเทศศรีลังกา พระรับราชการและมีตำแหน่งทางการเมืองได้ แต่นั่นไม่ใช่รัฐโลกวิสัยเลย 

พระและชาวพุทธไทยบางกลุ่มยืนยันว่า ถ้า “เสียงส่วนใหญ่” โหวตให้พุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ ก็ต้องยอมรับ เพราะนี่คือประชาธิปไตย และอย่างที่กล่าวแล้วว่าอังกฤษก็มีนักบวชชั้นสูงมีตำแหน่งทางการเมืองในสภาสูง ซึ่งนั่นก็คือระบอบประชาธิปไตย แต่สมาคมโลกวิสัยแห่งชาติในอังกฤษบอกว่า นั่นคือประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่ “ประชาธิปไตยแบบโลกวิสัย” (secular democracy) เลย สมาคมนี้จึงรณรงค์ให้แยกศาสนาจากรัฐ และยกเลิกการสอนศาสนาคริสต์นิกายอังกลิคันในโรงเรียนรัฐบาลในอังกฤษ

ในหนังสือ “เสรีนิยมทางการเมือง” (Political Liberalism) จอห์น รอลส์แยกชัดเจนว่า “เหตุผลสาธารณะ” (public reason) บนหลักการประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับ “เหตุผลโลกวิสัย” (secular reason) แม้ว่าจะมีสาระสำคัญเหลื่อมซ้อนกันอยู่ เช่น เหตุผลสาธารณะบนหลักการประชาธิปไตย และเหตุผลโลกวิสัยแนวเสรีนิยมต่างยึดโยงกับหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันเหตุผลสาธารณะบนหลักการประชาธิปไตยก็ยึดหลักเสียงข้างมากตามระบอบประชาธิปไตยด้วย ซึ่งเมื่อเน้นเหตุผลสาธารณะบนหลักเสียงข้างมาก อาจจะนำไปสู่การโหวตศาสนาประจำชาติ และอื่นๆ เกี่ยวกับเรื่องศาสนาได้ ศรีลังกา และประเทศที่ศาสนาพุทธและอิสลามยังไม่แยกจากรัฐ ก็อาจใช้กระบวนการประชาธิปไตยโหวตเกี่ยวกับเรื่องศาสนาด้วยเหตุผลเช่นนี้ แต่เหตุผลแบบโลกวิสัยแนวเสรีนิยมปฏิเสธการโหวตเรื่องศาสนาเช่นนั้น และยืนยัน “การไม่เลือกปฏิบัติ” ด้วยเหตุผลทางศาสนาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีเหตุผลโลกวิสัยแบบอื่นๆ เช่น เหตุผลโลกวิสัยแบบเผด็จการสังคมนิยมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนา เป็นต้น 

ดังนั้น เวลาบอกว่า นักบวชก็ต้องเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองได้ ถ้าประชาชนเลือกตามกระบวนการประชาธิปไตย ก็ต้องตอบเหตุผลแบบโลกวิสัยให้ได้ด้วยว่า ทำไมจึงควรให้ “อภิสิทธิ์” แก่อาชีพนักบวชเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองได้ โดยไม่ต้องลาออกจากอาชีพนี้ก่อน ขณะที่อาชีพอื่นๆ ต้องลาออก นี่คือการเลือกปฏิบัติบนการให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลทางศาสนาใช่หรือไม่

อีกทั้ง ความเป็นไปได้ในสังคมโลกวิสัย อาชีพนักบวชก็ยังคงมีอภิสิทธิ์ในการใช้ “ทุนทางศาสนาและวัฒนธรรม” สร้างการตลาด รายได้ และความได้เปรียบอาชีพอื่นๆ ในตลาดศรัทธาทางศาสนาที่เปิดกว้างกว่าเดิม โดยเฉพาะในสังคมที่ศาสนาพุทธและอิสลามยังคงมีอิทธิพลทางการเมืองสูง สถานะของนักบวชและผู้นำทางศาสนา ก็น่าจะยังมีอิทธิทางสังคมและการเมืองได้อีกนาน จนกว่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางสังคม (social secularization) ได้กว้างขวางทั่วถึงจริง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแม้จะยังไม่สามารถแยกศาสนาจากรัฐได้ หรือยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยในทางการเมือง (political secularization) ได้ เราก็อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางสังคมได้ ด้วยการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ท้าทายเรื่องเล่าหลักทางศาสนาที่สร้างความศักดิ์สิทธิ์ และให้อภิสิทธิ์แก่อาชีพนักบวช และผู้นำศาสนาต่างๆ 

 

ที่มาภาพ: https://www.matichon.co.th/education/news_1067410

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท