Skip to main content
sharethis
'สมาคมประมง' นำชาวประมงสงขลาเข้าสู่ระบบ 'กองทุนเงินทดแทน-ประกันสังคม'

สมาคมประมงสงขลาจับมือสำนักงานประกันสังคมสงขลาให้ชาวเรือประมงในจังหวัดสงขลาทุกคน เข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทนกับประกันสังคม เนื่องจากเจ้าของเรือจะต้องดูแลเรื่องคนงานในเรือประมง ถึงแม้ว่าคนงานเป็นชาวไทยจะมีบัตรทองในการรักษาโรคอยู่แล้วและคนงานต่างด้าวจะมีบัตรประกันสุขภาพของโรงพยาบาลของรัฐอยู่แล้ว แต่บางส่วนยังไม่มีประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุ

วันนี้ 15 มี.ค. 2562 ที่สมาคมประมงสงขลา นายสุรเดช นิลอุบล นายกสมาคมประมงสงขลา เรียกประชุมสมาชิกในส่วนของสมาคมประมงจังหวัดสงขลา ที่เป็นเรือประมงพาณิชย์ตั้งแต่ 10 ตันครอสขึ้นไป ทุกชนิดเครื่องมือประชุมเพื่อรับทราบกฏหมายใหม่ๆที่ต้องปฏิบัติและเป็นผลดีต่อเจ้าของเรือประมง ในการดูแลลูกเรือประมง วันนี้ได้เชิญประกันสังคมจังหวัดสงขลา องค์การสะพานปลา ท่าเทียบเรือสงขลากับประมงในส่วนของ PIPO มาพูดคุยให้ความรู้แก่เจ้าของเรือประมง

โดยในส่วนของประกันสังคมจังหวัดสงขลา เนื่องจากมีข้อกังวลที่ต้องดูแลเรื่องคนงานในเรือประมง ถึงแม้ว่า คนงานในเรือประมง ซึ่งเป็นชาวไทยจะมีบัตรทองในการรักษาโรคอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าคนงานต่างด้าวจะมีบัตรปะกันสุขภาพของโรงพยาบาลของรัฐอยู่แล้ว แต่บางส่วนยังไม่มีประกันชีวิต ยังไม่มีประกันอุบัติเหตุ

ในส่วนขององค์การสะพานปลา ท่าเทียบเรือสงขลากับประมงในส่วนของ PIPO มาตอกย้ำทำความเข้าใจกับชาวเรือในเรื่องการลงน้ำหนักในล๊อกบุ๊ค ที่อาจจะมีปัญหาความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เนื่องจากจะมีการออกกฏหมายมีโทษปรับในอัตราสูงในการลงน้ำหนักล็อกบุ๊คที่ผิดพลาดเกิน 20% โดยปรับไม่เกิน 3 แสนบาทสำหรับเรือที่ไม่เกิน 30 ตัน และ 6 แสนบาทสำหรับเรือที่เกิน 60 ตัน

เนื่องจากการลงน้ำหนักในล๊อกบุ๊ค ของปลาแต่ละชนิดที่เรียกไม่เหมือนกัน ชาวประมงเรียกอย่างหนึ่ง แต่ศัพท์ทางวิชาการเรียกอีกอย่างหนึ่งทั้งๆที่เป็นปลาชนิดเดียวกัน เวลาลงชนิดของปลาทำให้เกิดปัญหา เวลาลงน้ำหนัก เมื่อมีการตรวจสอบย้อนหลัง แหล่งที่มาของการจับสัตว์น้ำของกรมประมง มันอาจมีปัญหาขึ้นได้และมันก็เคยมีปัญหามาแล้ว จึงอยากจะทำให้มันถูกต้อง

ในโอกาสเดียวกันทางสมาคมประมงสงขลาได้มอบเงินช่วยเหลือนางสมใจ สังข์ทอง เจ้าของเรือไดรหมึก มังกรทอง 39 ที่ไฟไหม้เรือทั้งลำขณะที่จอดอยู่ที่ท่าจอดเรือเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 6 มี.ค. 2562 รวมทั้งทำการเปลี่ยนเสื้อชูชีพที่ลูกเรือประมงใช้สวมใส่ขณะทำงานจับปลาอยู่กลางทะเลแบบเก่าที่เป็นเสื้อกั๊กเปิดด้านหน้า มาเป็นเสื้อชูชีพแบบใหม่ ที่ใช้สวมทางหัว เมื่อสวมเสื้อชูชีพแบบใหม่เสื้อจะไม่หลุดออกจากตัว เพราะต้องถอดออกทางหัวเท่านั้น หากเกิดอุบัติเหตุตกจากเรือขณะทำงานลงไปในทะเล เสื้อชูชีพแบบใหม่ก็จะสามารถช่วยชีวิตไม่ให้จมน้ำได้ วันนี้เสื้อชูชีพแบบใหม่ได้ส่งมาถึงแล้วเตรียมส่งให้เจ้าของเรือประมงในวันนี้

นายสุรเดช นิลอุบล นายกสมาคมประมงสงขลา กล่าวว่า วันนี้เรามีแนวคิดร่วมกันกับสำนักงานประกันสังคม ให้ชาวเรือประมงในจังหวัดสงขลาทุกคน เข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทน ข้อที่ 2 การเข้าสู่หลักประกันสังคมแล้วแต่ใครจะเข้าก็ได้หรือไม่เข้าก็ได้ ใครจะเลือกประกันสังคมของรัฐก็ได้ หรือใครจะเลือกประกันอุบัติเหตุของเอกชนก็ได้สุดแล้วแต่ แต่สิ่งที่ทกคนต้องทำก็คือ กองทุนเงินทดแทนกับประกันสังคม

ในส่วนของหลักประกันสุขภาพที่เราซื้อจากโรงพยาบาลของรัฐอันนี้ 100% ทุกคนต้องมี สรุปแล้วลูกเรือทุกคนสิ่งที่เขาต้องมีก็คือ 1.ถ้าเป็นคนไทยเขาจะมีบัตรทองอยู่แล้ว 2.จะมีกองทุนเงินทดแทน 3.จะมีประกันสังคม ส่วนแรงงานต่างด้าวเขาต้องมี 1.กองทุนเงินทดแทน 2.ประกันสังคมหรือประกันของเอกชนที่มีสิทธิเท่าเทียมกัน 3.การรักษาหรือตรวจสุขภาพประจำปีของโรงพยาบาลของรัฐ วันนี้จึงได้เรียกชาวประมงเข้ามาพร้อมกับประกันสังคมจังหวัดสงขลาเข้ามาให้ความรู้ให้รายละเอียด และฝากถามไปยังท่านเลขาประกันสังคมที่กรุงเทพ ทางสมาคมประมงสงขลาจะร้องขอให้เจ้าหน้าที่ประกันสังคมมาอำนวยความสะดวกที่สมาคมประมงสงขลาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อมาเชิญชวนและอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของเรือประมงที่ต้องการจะเข้าโครงการนี้

ที่มา: สยามรัฐ, 16/3/2562

ปี 2561 มีแรงงานต่างชาติเมาแล้วขับถูกส่งกลับประเทศห้ามเข้าไต้หวันตลอดไปกว่า 400 คน เป็นคนงานไทย 123 คน

ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา มีแรงงานต่างชาติในไต้หวันถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน ถูกเนรเทศส่งกลับกลับประเทศ ติดบัญชีดำห้ามเข้าสู่ไต้หวันตลอดไปกว่า 400 คน ในจำนวนนี้กว่าครึ่งเป็นแรงงานเวียดนาม ส่วนคนงานไทยมีจำนวน 123 คน

กระทรวงแรงงานไต้หวันออกประกาศเตือนแรงงานต่างชาติ อย่าเมาแล้วขับ เพราะนอกจากจะเสียค่าปรับในอัตราสูง อาจถูกจำคุกและยังจะถูกส่งกลับประเทศห้ามเดินทางเข้าไต้หวันทำงานตลอดไป ทั้งนี้ปัญหาเมาแล้วขับในกลุ่มแรงงานต่างชาติอยู่ในสภาพการณ์ที่รุนแรง ในแต่ละเดือนมีแรงงานต่างชาติดื่มสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะ ประสบอุบัติเหตุหลายคดี โดยแรงงานต่างชาติบางส่วน นิยมใช้ช่วงเลิกงานหรือวันหยุด ชวนเพื่อนฝูงดื่มสุราสังสรรค์ จากนั้นปั่นจักรยานหรือขี่จักรยานไฟฟ้าหรือรถมอเตอร์ไซค์กลับโรงงาน หากถูกตรวจพบ จะถูกลงโทษในข้อหาก่ออันตรายต่อสาธารณะ เมื่อถูกดำเนินคดี นอกจากเสียค่าปรับในอัตราสูงแล้ว ยังมีโทษทางอาญา ต้องถูกจำคุก เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายการจ้างงานมาตราที่ 73 วรรค 3 ที่ระบุว่า ชาวต่างชาติหากฝ่าฝืนกฎหมายของไต้หวันในลักษณะรุนแรง จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน และห้ามเดินทางเข้าไต้หวันทำงานอีกตลอดชีพ และตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา มีแรงงานต่างชาติถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน ถูกเนรเทศส่งกลับกลับประเทศ ติดบัญชีดำห้ามเข้าสู่ไต้หวันตลอดไปกว่า 400 คน ในจำนวนนี้กว่าครึ่งเป็นแรงงานเวียดนาม ส่วนคนงานไทยมีจำนวน 123 คน

กระทรวงแรงงานกล่าวย้ำว่า ไต้หวันดำเนินนโยบายไม่ยอมประนีประนอม หรือนโยบายยอมไม่ได้กับการเมาแล้วขับ และมีการตรวจจับอย่างเข้มงวด รวมทั้งเพิ่มโทษหนักขึ้น แรงงานต่างชาติในไต้หวัน แม้ส่วนใหญ่จะปั่นจักรยาน ขี่จักรยานไฟฟ้าหรือรถมอเตอร์ไซค์ แต่หากเมาแล้วขับ มีโทษหนักเท่ากันหมด ไม่มีกรณียกเว้น กระทรวงแรงงานยกตัวอย่างคดีของแรงงานเวียดนามรายหนึ่งที่ชื่ออาเหลียง เมื่อเร็วๆ นี้ หลังเลิกงานดื่มสุรากับเพื่อนฝูง จากนั้นขี่รถจักรยานไฟฟ้ากลับหอพัก ระหว่างทางถูกตรวจพบระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจเกินมาตรฐาน ถูกส่งดำเนินคดีข้อหาก่ออันตรายต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นคดีอาญา ศาลพิพากษาจำคุก 2 เดือน กระทรวงแรงงานเพิกถอนใบอนุญาตทันที หลังพ้นโทษแล้ว ถูกเนรเทศส่งกลับประเทศ เดินทางมาทำงานที่ไต้หวันไม่ได้ตลอดชีพ แม้นายจ้างจะอ้อนวอนขอให้ผ่อนหนักเป็นเบา โดยกล่าวว่า อาเหลียงมาทำงานที่ไต้หวัน 10 ปีแล้ว ได้รับการฝึกฝนและมีทักษะฝีมือที่ดีมาก ยังเป็นแรงงานต่างชาติที่ขยันและให้ความร่วมมือในการทำงาน ได้รับความไว้วางใจจากนายจ้างเป็นอย่างมาก วอนกระทรวงแรงงานให้โอกาสแก้ตัวใหม่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนผลิตของบริษัท

แต่กระทรวงแรงงานกล่าวว่า ไม่อาจอนุโลมได้ และเตือนผู้ประกอบการว่า หากแรงงานต่างชาติทำผิดกฎหมายถูกเนรเทศกลับประเทศ จะส่งผลกระทบต่อแผนการผลิตของนายจ้างอย่างแน่นอน เพื่อที่จะปกป้องสิทธิประโยชน์ของตน จึงขอให้นายจ้างต้องอบรมและให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่แรงงานต่างชาติ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมผิดกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น

ที่มา: Radio Taiwan International, 15/3/2562

10 นิคมอุตสาหกรรม ลุยปั้นอาชีพรอบชุมชนปีนี้ 1,000 ราย หวังให้มีทั้งอาชีพ-รายได้เพิ่ม

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำ MOU 16 ภาคีความร่วมมือรัฐ เอกชน สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา ร่วมพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมรายได้ ขับเคลื่อนโครงการ “สานฝัน ปั้นอาชีพ” เริ่มปี 2562 นำร่องชุมชนรอบนิคมฯ 10 แห่ง ปั้นอาชีพ 1,000 ราย เข้าสู่มาตรฐานวิชาชีพ ป้อนอุตสาหกรรมในนิคมฯ

ดร.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง 16 ภาคีความร่วมมือหน่วยงานรัฐ สถาบันการเงินภาคประชาสังคม เอกชน และสถาบันการศึกษาเพื่อร่วมกันเสริมสร้างทักษะเพิ่มองค์ความรู้ให้กับชุมชนรอบ นิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย กลุ่มวัยแรงงาน แรงงานวัยใกล้เกษียณ ผู้สูงอายุ และวิสาหกิจชุมชน ในการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อบริการกับภาคอุตสาหกรรม ผ่านโครงการ“สานฝัน ปั้นอาชีพ” ตามแผนยุทธ์ศาสตร์ CSR เสริมแกร่งชุมชน รอบนิคมฯ ระยะเวลา 3 ปี (2562-2564)

โดยในปี 2562 นี้ มีเป้าหมายจะพัฒนาชุมชนรอบนิคมฯ 10 แห่ง และพัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้ จำนวน 1,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่นิคมฯทั่วประเทศ สำหรับกรอบความร่วมมือในการดำเนินครั้งนี้ กนอ. สมาคมเพื่อนชุมชน และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) จะทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุน และเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการเงิน และ สถาบันการศึกษา ในการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมวิชาชีพ สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อผ่านสถาบันการเงิน ให้กับวิสาหกิจชุมชน ต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน ตลอดจนให้การรับรองมาตรฐานวิชาชีพผ่านสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ชุมชนและวิสาหกิจชุมชน

ส่วนด้านการฝึกอบรมให้กับชุมชนรอบนิคมฯ แบ่งเป็นการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาโดยภาครัฐ ประกอบด้วย กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จะจัดส่งวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิชาชีพต่างๆ และสถาบันการศึกษาจะร่วมกันจัดหลักสูตรการศึกษา พร้อมฝึกอบรมวิชาชีพ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี โดยมีภาคเอกชน ประกอบด้วย สถาบันไทย-เยอรมัน และบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนฝึกอบรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และทักษะวิชาชีพ

อย่างไรก็ตามเพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนรอบนิคมฯ มีความเข้มแข็ง จำเป็นต้องเสริมสภาพคล่องเพื่อการประกอบธุรกิจ โดยมีสถาบันการเงินเข้ามาร่วมดำเนินงานในครั้งนี้ ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เพื่อการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพให้กับชุมชนและวิสาหกิจชุมชนรอบนิคมฯ ให้เป็นที่ยอมรับกับผู้ประกอบการ โดยจะมีหน่วยจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ออกใบรับรองมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อเป็นเครื่องการันตีในด้านการประกอบวิชาชีพด้านบริการ ป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่นกลุ่มธุรกิจไฟฟ้า กลุ่มน้ำประปา กลุ่มยานยนต์ กลุ่มสุขภาพกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์/อุปกรณ์มือถือ กลุ่มช่างซ่อมเรือ กลุ่มช่างซ่อมเครื่องยนต์ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มพนักงานรักษาความปลอดภัย กลุ่มพนักงานขับรถ เป็นต้น

สำหรับพื้นที่นำร่อง 10 นิคมฯ ประกอบด้วย นิคมฯ บางชัน กรุงเทพฯ นิคมฯ ลาดกระบัง กรุงเทพฯ นิคมฯ บางปู จ.สมุทรปราการ นิคมฯ บางพลี จ.สมุทรปราการ นิคมฯ บ้านหว้า จ.พระนครศรีอยุธยา นิคมฯ บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา นิคมฯ สหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา นิคมฯ สมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร นิคมฯสินสาคร จ.สมุทรสาคร และนิคมฯ อมตะซิตี้ (ชลบุรี)

“ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นโครงการที่ให้ความสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนรอบนิคมฯให้มีความเข้มแข็งทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ประชาชนและชุมชนได้รับประโยชน์จากการสร้างอาชีพและส่งเสริมรายได้ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง และเป็นการสร้างความสมดุลของการพัฒนาอุตสาหกรรมและการอยู่ร่วมกันของสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 14/3/2562

องค์กรแรงงานเสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ พร้อมเลี้ยงคนได้ 3 คน

2 องค์กรแรงงาน ยื่น รมว.แรงงานเสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ ตามมาตรฐานสากล เลี้ยงครอบครัวได้ 3 คน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมต้องคุมราคาสินค้า ย้ำต้องเร่งปรับขึ้นค่าจ้างยิ่งเลื่อนทำให้การปรับค่าจ้างตามไม่ทันค่าครองชีพ

14 มี.ค. 2562 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กลุ่มสหภาพแรงงานย่านต่างๆ และสหภาพแรงงานมอลเท็นเอเชียโพลิเมอร์โปรดักส์ กว่า 100 คน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรื่อง “ปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรม ต้องเลี้ยงครอบครัวได้ตามหลักการสากล และต้องเท่ากันทั้งประเทศ”

นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่อไม่ควรมีการปรับให้แตกต่างกัน ควรปรับขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ ด้วยการปรับขึ้นค่าจ้างยังมีประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีด้วย เพราะค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นค่าจ้างสำหรับแรงงานแรกเข้าเท่านั้น ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นไปตามหลักสากลคือ เลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างน้อย 3 คน ทุกวันนี้ค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่สามารถที่จะเลี้ยงดูคนทำงานคนเดียวได้เลย เพราะยังต้องทำงานล่วงเวลากัน

นายสมพรกล่าวอีกว่า “รัฐบาลกล่าวถึงยุค 4.0 ที่จะมีการนำเครื่องจักรกลใหม่ๆเข้ามาทดแทนแรงงานอีก ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างต้องมีการทำเป็นโครงสร้างเพื่อให้มีการปรับฐานค่าจ้างทุกปี เพราะนายจ้างปัจจุบันจำนวนมากยึดอยู่กับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น เมื่อมีการจ้างงานคนใหม่เข้ามาทำงานค่าจ้างก็เท่ากันกับคนที่ทำงานมานานอีกเป็นต้น การปรับค่าจ้างประจำปี ก็ต้องดูค่าครองชีพประจำปีด้วยว่ามีการปรับขึ้นเท่าไร ค่าจ้างที่ปรับขึ้นต้องเท่ากันทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงานทุกคน หากไม่ชัดเจนคสรท.ก็จะต้องขับเคลื่อนต่อไป”

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า มาวันนี้เพื่อให้กำลังใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงแรงงาน ที่บอกว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้าง ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ การส่งออก หรือการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ การท่องเที่ยวต้องอาศัยให้คนมาซึ่งก็ขึ้นอยู่กับรายได้และเศรษฐกิจของนักท่องเที่ยวที่จะมา อาจไม่ได้ตัวเลขที่แน่นอน เรื่องการส่งออกภายใต้สถานการณ์โลกที่ขั้วมหาอำนาจมีปัญหากันทำให้เศรษฐกิจการส่งออกก็เป็นปัญหา การที่จะหวังตลาดส่งออกก็มีปัญหา ข้อเสนอคือ การส่งเสริมด้านเศรษฐกิจตอนนี้ต้องเน้นการบริโภคภายในประเทศ ต้องเพิ่มรายได้ให้กับคนในประเทศ ภายใต้ประเทศไทยที่ประสบปัญหาความเหลื่อมล่ำสูง และผู้ใช้แรงงานเป็นตัวชี้วัดเรื่องความเหลื่อมล้ำด้วยเป็นคนส่วนใหญ่ราว 38-40 ล้านคน ไม่ใช่การใช้นโยบายเพื่อหนุนกลุ่มทุนซึ่งมองว่าไม่ได้อะไร หากปรับขึ้นค่าจ้างการกระจายรายได้ทำให้เศรษฐกิจข้างล่างมีการจับจ่ายใช้สอย สินค้าที่ผลิตมามีคนซื้อ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงิน หลักการง่ายๆคือ ผู้ใช้แรงงานมีเงินก็จับจ่ายซื้อสินค้าเศรษฐกิจก็ดีขึ้น รัฐก็เก็บภาษีได้ เมื่อมีรายได้ รัฐบาลควรปรับค่าจ้างที่มีราคาที่สมน้ำสมเนื้อกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

“การที่ว่าปรับขึ้น 2-10 บาท จังหวัดระยอง หรือชลบุรี ก็คิดว่า ค่างคอรงชีพคงไม่ต่างกับที่จังหวัดภูเก็ต หรือกรุงเทพฯเลย การที่มาประกาศปรับขึ้นค่าจ้างที่ต่างกันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น เพราะว่าชีวิตผู้ใช้แรงงานผูกติดอยู่กับร้านสะดวกซื้อ ราคาอาหารการกินมีราคาเท่ากันไม่ว่าจะอยู่จังหวัดไหนในประเทศไทย การที่อนุกรรมการค่าจ้างขึ้นต่ำ 46 จังหวัดไม่ได้เสนอตัวเลขมา เป็นไปได้ว่า ไม่มีตัวแทนของแรงงานที่แท้จริง หากมีผู้ใช้แรงงานที่ไม่มีสหภาพแรงงาน จะเอาข้อมูลไปเจรจากับผู้แทนหอการค้า หรือผู้ว่าราชการ เพื่อเสนอปรับขึ้นค่าจ้างอย่างไร เมื่อแค่ก้าวขึ้นบันไดศาลากลางจังหวัดก็ขาสั่นแล้ว จะกล้าพอที่จะบอกให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และจริงแล้วอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดเองก็ไม่ได้มีอำนาจใดในการเสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะในที่สุดต้องตัดสินที่ส่วนกลางอย่างเช่น วันนี้ที่มีการนำเสนอปรับขึ้นค่าจ้าง 2 บาทใน 46 จังหวัดเป็นต้น

เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำนั้นแม้แต่ ลูกจ้างภาครัฐยังไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเลย เดือนหนึ่งๆได้รับค่าจ้าง 6-7 พันบาทเท่านั้น เช่นลูกจ้างภาครัฐในกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาที่การ เช้ารับเล็ก ทำอาหาร และเตรียมการสอนให้เด็ก แล้วส่งเด็กกลับบ้าน นี่คือบุคลากรในระบบการศึกษาของเรามีค่าจ้างเดือนละ 6 พันกว่าบาทเท่านั้น” นายสาวิทย์กล่าว

นางสาว ธนพร วิจันทร์ รองประธาน คสรท. กล่าวว่าเรื่องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรม ต้องสามารถที่จะเลี้ยงคนในครอบครัวได้ตามหลักการสากล โดยต้องเท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งผลดีประการแรกคือ จะทำให้แรงงานลดการอพยพของคนงาน จากเขตค่าจ้างต่ำเข้าสู่เขตค่าจ้างสูงเพียงแต่รัฐบาลมีนโยบายกระจายงานกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาค บริหารจัดการเรื่องการขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ให้คล่องตัว ดูเรื่องสภาพแวดล้อมจากโรงงานอุตสาหกรรมให้ดีไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชน ทำให้แรงงานสามารถทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมในชนบทท้องถิ่น ประการต่อมา เมื่อปรับขึ้นค่าจ้างให้แรงงานมีกำลังซื้อ รัฐสามารถเก็บภาษีได้ทั้งบุคคล นิติบุคคล การส่งออก รัฐสามารถนำภาษีมาพัฒนาประเทศได้ เมื่อแรงงานมีรายได้ที่เพียงพอสามารถที่จะวางอนาคตและครอบครัว เช่นการศึกษาบุตร ที่อยู่อาศัย โดยค่าจ้างเป็นตัวชี้วัด และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้

ที่ผ่านมา คสรท. และ สรส.ได้เคยมีข้อเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ 360 บาท 421 บาทและ 700 บาท ต้องปรับขึ้นเท่ากันทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2552 จนถึง 2560 ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีการสำรวจค่าใช้จ่ายจากผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ต่างๆ วันนี้ยังคงเป็นจุดยืนเดิมโดยของประการว่า

1. รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของคนทำงาน และครอบครัวได้ 3 คน ตามหลักของปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

2. รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ

3. รัฐบาลต้องกำหนดโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างประจำปี

4. รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง

5. รัฐบาลต้องยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด

6. รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติ จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทีมวิชาการที่เป็นอิสระ และมีองค์ประกอบมากกว่าไตรภาคี

ด้านนายวินัย ติ่นตะโนด สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย(TEAM) กล่าวถึงการที่ 46 จังหวัดไม่ได้นำเสนอตัวเลขการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ตนได้สอบถามตัวแทนในองค์กรตนเองที่เข้าไปเป็นอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดฉะเชิงเทรา และได้สอบถามทางจังหวัดชลบุรี พบว่า อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดยังไม่ได้มีการประชุมพิจารณาเรื่องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเลย โดยทางแรงงานจังหวัดบอกว่า งบประมาณยังไม่ลงมา และตัวเลขที่ส่งเข้ามาจึงเป็นตัวเลขเก่าที่ประชุมกันเมื่อปีก่อน จึงอยากให้มีการสอบสวนด้วย

ส่วนนายชาลี ลอยสูง รองประธานคสรท. กล่าวว่า หากใช้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำก็ต้องมาเรียกร้องกันทุกปี เราต้องการให้มีการทำเป็นโครงสร้างปรับค่าจ้างขึ้นทุกปี ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นค่าจ้างแรงงานแรกเข้า และควรยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัด ด้วยไม่ได้มีอำนาจเต็มในการเสนอปรับขึ้นค่าจ้างอยู่แล้ว และระบบการได้มาซึ้งผู้แทนยังคงเป็นปัญหาอย่างไร ให้เรียบประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยไม่ต้องรอให้มีการประชุมระดับจังหวัดแล้ว เพราะอย่างไรอำนาจตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง เพราะหากเลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างออกไป ค่าครองชีพสูงขึ้น พ่อค้า แม่ค้าปรับราคาสินค้าไปรอแล้วพอประกาศปรับขึ้นค่าจ้าง ผู้ใช้แรงงานก็ขาดทุนเพราะค่าจ้างที่ขึ้นเพียง 2 บาทคงตามไม่ทันค่าครองชีพแน่นอนซึ่งรัฐบาลเองก็ทราบแม้จะปรับค่าจ้าง 10 บาท ก็ยังไม่ทันค่าครองชีพ หรือทำให้คุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานดีขึ้นมากหนัก ซึ่งรัฐต้องช่วยควบคุมราคาสินค้าและควรปรับขึ้นค่าจ้างทันที

ทั้งนี้ นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช รองปลัดกระทรวงแรงงาน ที่เป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมารับหนังสือแทนกล่าวว่า วันนี้ได้รับฟังขอเสนอทางฝ่ายของผู้แทนผู้ใช้แรงงาน เรายังไม่ได้รับฟังทางฝ่ายนายจ้าง และยังมีข้อมูลจาก 46 จังหวัดที่ต้องพิจารณา และส่งเข้ามาใหม่ และยังห่วงธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ หอการค้า การที่ค้าเงินบาทแข็ง ผลทางการค้า จึงยังไม่ได้มีการเคาะตัวเลขในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งคิดว่าคงเป็นเดือนเมษายน 2562 โดยรับไว้พิจารณาตามข้อเสนอ 3 ข้อคือ

1. ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขึ้น โดยจะปรับอัตราเท่าไรให้อยู่ที่คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำพิจารณา โดยขอให้ขึ้นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งตนก็เห็นด้วยกับผู้ใช้แรงงานว่า ค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่ได้ปรับขึ้นแต่ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นไปแล้ว

2. เรื่องอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัด 46 จังหวัดที่ไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างมาเลย ซึ่งตรงนี้ทางปลัดกระทรวงแรงงานก็ได้สั่งให้มีการตรวจสอบ เนื่องเห็นเหมือนกันว่าไม่น่าจะใช่ที่จะไม่มีการเสนอปรับขึ้นค่าจ้างเลย จึงต้องตรวจสอบว่ามีเหตุอะไรจึงไม่มีการนำเสนอปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งตอนนี้ค่าเงินบาทสูงหากค่าจ้างสูงไปก็จะเกิดปัญหากับผู้ประกอบการ แต่อย่างไรก็ตามส่วนตัวคิดว่าต้องปรับขึ้นค่าจ้าง

3. กรณีคนงานมอลเท็นฯ ไม่มีอะไรเนื่องจากมีการนัดเจรจากันวันนี้ที่จังหวัดระยอง ตอนเวลา 14.00 น. อยู่แล้ว

ทั้งนี้เมื่อวันที่13 มี.ค. 262 ที่ผ่านมา นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ว่าที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลจากอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด โดยสรุปว่า มีจำนวน 46 จังหวัดที่ไม่ขอขึ้นค่าจ้าง ซึ่งบอร์ดค่าจ้างที่ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล จึงมีมติเห็นชอบที่จะขอข้อมูลจากอนุกรรมการค่าจ้างทั้ง 46 จังหวัดมาพิจารณาอีกครั้งเพื่อสรุปเหตุผลที่ไม่ขอปรับขึ้น เพื่อให้บอร์ดได้มีข้อมูลเพิ่มเติมในการประกอบการตัดสินใจ

ขณะเดียวกันหน่วยงานด้านนโยบาย อาทิ กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอน ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และสงครามทางการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกที่ตึงตัว ประกอบกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้ง 46 จังหวัด ซึ่งต้องมีข้อมูลที่พร้อมและมีความรอบด้านมาประกอบการตัดสินใจให้บอร์ดค่าจ้างเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ที่มา: Voice Labour, 14/3/2562

บอร์ดค่าจ้างกลางเลื่อนเคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำออกไปหลัง เม.ย. 2562

ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง เลื่อนการประกาศการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปหลังเดือน เม.ย. 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และมีรัฐบาลชุดใหม่จากการเลือกตั้ง ยังไม่แน่นอนว่าการพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้จะดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยในรัฐบาลชุดนี้ หรือต้องรอดูนโยบายรัฐบาลชุดใหม่

มีรายงานว่าการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ที่มีนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน เพื่อพิจารณาและหารือถึงการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2562 ที่จะขอปรับขึ้นตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ วันที่ 13 มี.ค. 2562 ว่า ที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่อนุฯ วิชาการเสนอ และให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด จำนวน 46 จังหวัด ที่ไม่ได้เสนอตัวเลขการขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกลับไปพิจารณา ทบทวน และส่งตัวเลขที่จะขอปรับขึ้นค่าจ้างกลับมาที่อนุวิชาการกลั่นกรองอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการค้าจ้างช่วงปลายเดือน เม.ย. 2562

ทั้งนี้ การที่บอร์ดไตรภาคีตีกลับบัญชีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ ให้ 46 จังหวัดเสนอตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่เห็นควรปรับจากเดิมยังไม่ได้เสนอ นอกจากต้องรอการจัดทำบัญชีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่จากทั้ง 46 จังหวัดแล้ว และต้องให้คณะอุนกรรมการฝ่ายวิชาการกลั่นกรองอีกครั้งหนึ่งแล้ว ยังต้องรอบรรจุเข้าที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางครั้งปลายเดือน เม.ย. 2562

ทั้งนี้เท่ากับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถูกเลื่อนออกไปหลังเดือน เม.ย. 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และมีรัฐบาลชุดใหม่จากการเลือกตั้ง จึงยังไม่แน่นอนว่าการพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้จะดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยในรัฐบาลชุดนี้ หรือต้องรอดูนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ เพราะแม้โดยหลักการการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นอำนาจของบอร์ดไตรภาคี แต่ในทางปฏิบัติปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องได้รับไฟเขียวจากฝ่ายนโยบายคือรัฐบาลก่อน

ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการเพื่อพิจารณาได้พิจารณาตัวเลขที่คณะกรรมการค่าจ้างจังหวัด 28 จังหวัดเสนอ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้วิเคราะห์จากปัจจัยต่าง ๆ แล้ว มีมติเสนอบอร์ดค่าจ้างให้ปรับขึ้นค่าจ้างในอัตรา 2-10 บาท/วัน และ 49 จังหวัดที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไม่เสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้าง เห็นควรให้ปรับขึ้นในอัตรา 2 บาท/วัน ที่ได้รับการเสนอให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดที่ 10 บาท/วัน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, ภูเก็ต และสมุทรปราการ ปรับขึ้น 7 บาท/วัน ได้แก่ ชลบุรีและระยอง ให้ปรับขึ้น 5 บาท

ด้าน ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ ที่ปรึกษาคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่า กระแสข่าวตัวเลขการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างฝ่ายวิชาการได้เสนอบอร์ดค่าจ้างกลางให้ปรับขึ้นในอัตราที่ไม่สูงมากนัก เฉลี่ยอยู่ที่ 2-10 บาทนั้น โดยส่วนตัวแล้วมองว่าน่าจะเป็นเพราะปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น หากมีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างต่ำอย่างรวดเร็ว อาจจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก อีกด้านหนึ่งด้วยสภาวะทางการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ถือว่าไม่ได้เป็นคุณมากนักต่อฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากอาจจะถูกมองว่ามีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับคะแนนเสียงการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม คิดว่าถ้าตัวเลขที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างฝ่ายวิชาการเสนอบอร์ดค่าจ้างกลางไม่สูงมากนัก อาจจะนำเอาอัตราที่เสนอมานี้เก็บสะสมไว้ จากนั้นเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ค่อยพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบบัญชีที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ประกาศเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2561 มีทั้งหมด 7 อัตรา ตั้งแต่ 8-22 บาท โดย 3 จังหวัดปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดเป็น 330 บาท/วัน ได้แก่ ภูเก็ต, ชลบุรี และระยอง ปรับขึ้นเป็น 325 บาท 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และฉะเชิงเทราปรับเป็น 320 บาท 14 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี, สุพรรณบุรี, สระบุรี, พระนครศรีอยุธยา, หนองคาย, ลพบุรี, ตราด, ขอนแก่น, สงขลา, สุราษฎร์ธานี, กระบี่, เชียงใหม่, นครราชสีมา และพังงา และที่ปรับขึ้นต่ำสุดที่ 308 บาท ได้แก่ นราธิวาส, ยะลา และปัตตานี เฉลี่ยรวมอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศปัจจุบันอยู่ที่ 315.97 บาท

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 13/4/2562

‘โรคซึมเศร้า’ บัตรทอง-ประกันสังคม-ข้าราชการ รักษาฟรี

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถใช้สิทธิได้ทันที หากได้รับคำวินิจฉัยจากจิตแพทย์

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถใช้สิทธิได้ทันที หากได้รับคำวินิจฉัยจากจิตแพทย์ ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงยารักษาโรคซึมเศร้า มีจำนวน 8 รายการ

“เมื่อผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โรคซึมเศร้ารักษาได้ฟรี”

สำหรับผู้ที่ไม่แน่ใจในสิทธิการรักษาพยาบาลของตัวเอง สามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 เมื่อโทรไปแล้ว ให้กดหมายเลข 2 พร้อมใส่เลขบัตรประชาชน ระบบจะแจ้งสิทธิมาทันที หากมีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะแจ้งหน่วยงานบริการประจำ (ใกล้บ้าน) ว่าอยู่ที่ไหน เพื่อเดินทางไปรักษา

ส่วนสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ ครอบคลุมการรักษาโรคซึมเศร้าทั้งข้าราชการและครอบครัว หากแพทย์ตรวจแล้วระบุว่าเป็นโรคซึมเศร้าสามารถรักษาทันที ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติม ตรวจสอบสิทธิเพิ่มเติมที่ กรมบัญชีกลาง โทร. 02-127-7000

ขณะที่สิทธิประกันสังคม สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ ยืนยันว่าสำนักงานประกันสังคมให้ความคุ้มครองการรักษาโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชทุกประเภท สามารถใช้สิทธิในโรงพยาบาลที่กำหนดไว้ในระบบประกันสังคม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ตรวจสอบสิทธิเพิ่มเติม สายด่วนประกันสังคม 1506

ที่มา: ThaiPBS, 12/3/2562

แนะ สกสค.เพิ่มนักกฎหมายบรรเทาทุกข์ให้ครู-หนุนครูขายของออนไลน์หลังเลิกงาน

รมว.ศึกษาธิการแนะ สกสค.เพิ่มสวัสดิการดูแลครู ให้มีนักกฎหมายจังหวัดละ 1 คน ช่วยบรรเทาทุกข์ด้านกฎหมาย ให้คำแนะนำ พร้อมผุดไอเดียหนุนครูปั้นครูสู่สตาร์ทอัพ ขายออนไลน์หลังเลิกงานสอน

ที่โรงแรมปริ้นซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวระหว่างเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนา ประสิทธิภาพ การบริหาร จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมา สกสค. สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี มีการจัดสวัสดิการต่างๆ ทั้งเรื่องการดูแลสุขภาพ ที่พัก รวมถึงยังมีเงินเหลือมากพอที่จะทำสวัสดิการเพิ่มให้กับครูได้ เท่าที่ตนสังเกต ครูมีความทุกข์ในเรื่องกฎหมาย

ดังนั้น มีข้อเสนอให้ สกสค.มีฝ่ายกฎหมายอย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน เพื่อเข้ามาช่วยดูแลและให้คำปรึกษาเรื่องข้อกฎหมายกับครูโดยเฉพาะ เพราะกฎหมายที่เกี่ยวกับการศึกษาหลายเรื่อง จำเป็นต้องอาศัยนักกฎหมายที่มีความชำนาญและเข้าใจมาช่วยเหลือครู เช่น เกณฑ์ประเมินการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ การถูกสอบวินัย หรือกรณีมีข้อเรียกร้องต่างๆ ก็สามารถปรึกษาทีมกฎหมายได้ ซึ่งตนได้พูดคุยกับนายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการ ศธ.ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. แล้ว โดยจะเร่งติดตามเงินที่ธนาคารออมสินหักจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) เพื่อชำระหนี้แทนครูที่ค้างชำระเกิน 3 งวดขึ้นไป ซึ่งยังค้างอยู่ประมาณ 1 หมื่นกว่าล้านบาทคืน เพื่อดำเนินการดังกล่าว

“บางคนอาจมองว่า การที่ สกสค. ยกเลิกบันทึกข้อตกลง ไม่รับเงินที่ธนาคารออมสิน ต้องคืนให้ผ่านกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ร้อยละ 0.5-1.0 แล้ว สกสค.จะไม่มีเงินมาจัดสวัสดิการให้กับครูได้ซึ่งไม่จริง ตรงกันข้ามถ้าหากยิ่งรับกลับจะยิ่งไม่มีเงิน เพราะธนาคารออมสินหักเงินในส่วนนี้ไปใช้หนี้แทนครูที่ค้างชำระเกิน 3 งวด และขณะนี้ธนาคารออมสินยังไม่ได้คืนเงินให้ สกสค. อีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท แม้ธนาคารออมสินจะทยอยคืนเงินมาบ้างแล้ว แต่ก็เป็นเงินแค่หลักร้อยล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นต้องเร่งติดตามเงินจำนวนนี้คืนมาให้เร็วที่สุด เพื่อนำมาจัดทำเป็นสวัสดิการให้กับครู ซึ่ง นายอรรถพล อยู่ระหว่างรวบรวมรายละเอียดจัดทำฐานข้อมูล เพื่อทำข้อตกลงกับธนาคารออมสิน คาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ และผมมีนโยบายแล้วว่าจะไม่ปล่อยเรื่องนี้ไปง่ายๆ” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน ตนเสนอว่า สกสค.น่าจะเปิดช่องทางให้ครูสามารถทำ ธุรกิจสตาร์ทอัพ ขายของออนไลน์ในช่วงเย็นหลังเลิกงานได้ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ จากเดิมที่มักจะพูดกันมากว่า ครูจะใช้เวลาไปขายตรง เพราะมีหนี้มาก คิดว่าหากส่งเสริมให้ครูมีรายได้เพิ่มหลังเลิกงานจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อีกแนวทางหนึ่ง

ด้าน นายอรรถพล กล่าวต่อว่า สกสค.จะเร่งจัดทำข้อมูล คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน จากนั้นจะส่งให้ธนาคารออมสิน เพื่อจัดทำข้อมูลให้ตรงกัน ก่อนส่งหนังสือทวงหนี้ครูที่ค้างชำระ โดยสำนักงาน สกสค.จะประสาน สกสค.จังหวัดให้เร่งติดตามโดยมีเป้าหมายให้ว่าแต่ละจังหวัดควรติดตามหนี้ให้ได้เท่าไร ซึ่ง สกสค.อยากทวงคืนให้เร็วที่สุด เพราะเป็นเงินที่ สกสค.จะต้องนำมาจัดสวัสดิการให้ครู

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 12/3/2562

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net