Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เราเชื่อกันว่า “ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี” และคำสอนให้คนเป็นคนดี ก็คือ “หลักศีลธรรม” ของศาสนาต่างๆ ดังนั้น เวลาพูดเรื่องศีลธรรม เราก็นึกถึงศาสนา หรือเชื่อว่าศีลธรรมมาจากศาสนาเท่านั้น ครูอาจารย์บางคนรู้สึกภูมิใจมากที่ตนสามารถ “แทรก” การปลูกฝังศีลธรรม/จริยธรรมของศาสนาที่ตนเชื่อในทุกรายวิชาที่ตนสอน มาตรฐานวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างหนึ่ง ก็คือมาตรฐานด้านคุณธรรมจริยธรรม และจะตอบโจทย์ของมาตรฐานนี้ชัดเจนมากขึ้น ถ้าจัดกิจกรรมให้นักเรียน นักศึกษาเข้าค่ายปฏิบัติธรรม หรือนิมนต์พระมาบรรยายธรรมให้นักเรียน นักศึกษาฟัง

คำถามแรก ทุกศาสนาสอนให้คนเป็น “คนดี” จริงหรือ ถ้าสมมติว่า “จริง” ก็มีคำถามที่สองว่า คนดีของแต่ละศาสนาเหมือนกันไหม ตามประวัติศาสตร์ศาสนา ดูเหมือนว่าคนดีของแต่ละศาสนาจะไม่เหมือนกัน และเพราะคนดีของแต่ละศาสนาไม่เหมือนกัน ปัญหาต่างๆ จึงตามมามากมาย 

ตัวอย่างเช่น ถ้าศาสนาพหุเทวนิยม (polytheism) กับศาสนาเอกเทวนิยม (monotheism) ต่างก็สอนให้คนเป็ย “คนดี” เหมือนกัน ทำไมศาสนาสองประเภทนี้จึงขัดแย้ง และกดปราบกันและกัน จนในที่สุดศาสนาเอกเทวนิยมเป็นฝ่ายมีชัย แต่ระหว่างศาสนาเอกเทวนิยมด้วยกันเอง ก็ทำสงครามกันยาวนาน มีคนตายหลายสิบล้าน เช่น สงครามครูเสดระหว่างคริสต์กับอิสลาม บรรดานักรบที่เข้าสู่สงครามต่างนิยามตัวเองว่าเป็น “คนดี” ของศาสนาที่ตนนับถือ และต่างเป็น “นักรบของพระเจ้า” ที่ยอมสละชีวิตเพื่อปกป้องพระเจ้าของตนเอง เพราะต่างเชื่อว่า เมื่อตายในสนามรบก็ได้ไปอยู่บนสวรรค์ของพระเจ้า

ยิ่งกว่านั้น ศาสนาเดียวกันที่สอนให้คนเป็น “คนดี” แต่คนดีของแต่ละนิกายก็ทำสงครามยืดยื้อ เช่น สงครามระหว่างนิกายโรมันคาทอลิกกับโปรเตแตนท์ 30 ปี และสงครามกลางเมืองอื่นๆ ระหว่างสองนิกายนี้ที่ฆ่ากันตายนับล้าน สงครามระหว่างนิกายสุนหนี่ (Sunni) และชีอะฮ์ (Shiite) ของอิสลามในดินแดนตะวันออกกลางก็ยืดเยื้อยาวนานเช่นกัน ผู้เข้าร่วมรบในสงครามต่างสวดสรรเสริญพระเจ้าไป และยิงขีปนาวุธถล่มอีกฝ่ายไป พวกเขาต่างทำหน้าที่ในนาม “คนดี” หรือ “ผู้จงรักภักดี” ต่อพระเจ้า ต่อศาสนาหรือนิกายศาสนาของตนเองทั้งนั้น

ก็คงจริงที่ว่า “ทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี” แต่ศาสนา และนิกายศาสนาต่างๆ ก็สร้าง “คนดี” ในแบบของตนขึ้นมาทำสงครามกับ “คนดี” ในแบบศาสนาอื่น นิกายอื่นด้วย เป็นเช่นนี้มายาวนานในประวัติศาสตร์

เมื่อหันมามอง “คนดี” ตามระบบศีลธรรมของศาสนาแบบอินเดีย ก็ยิ่งน่าอัศจรรย์ เพราะความเป็นคนดีขึ้นกับระดับของ “ธรรม” หรือ “ศีลธรรม” ที่ไม่เท่ากัน จึงทำให้คนมีสถานะชนชั้นทางสังคมต่างกัน เช่น คนในวรรณะสี่ คือวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ ไวศยะ ศูทร มีธรรมอันถือเป็น “หน้าที่” ของแต่ละวรรณะต่างกัน จึงทำให้มีสถานะทางชนชั้นสูง-ต่ำต่างกัน 

พุทธศาสนาแม้จะปฏิเสธความเชื่อเรื่องพระพรหมสร้างโลก และสร้างระบบวรรณะสี่ แต่ก็สอนว่า “คนเราแตกต่างกันเพราะทำกรรมมาต่างกัน” คนที่เกิดมาในวรรณะสูง คือคนที่ทำกรรมดีมามาก ขณะที่คนเกิดมาในวรรณะต่ำ เพราะอดีตชาติทำกรรมชั่วมามาก ขณะเดียวกัน “คนดี” แบบพุทธก็สามารถทำดีด้วยวิธีการแปลกๆ เช่น “คนดีแบบเวสสันดร” บริจาคลูกเมียเป็นทาสได้โดย “ไม่ผิดศีลธรรม” เพื่อบำเพ็ญบารมีที่จะช่วยให้ตรัสรู้เป็นพุทธะในอนาคต เป็นต้น 

ดังนั้น ที่ว่าทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว จะพบว่าคนดีในแต่ละศาสนาไม่เหมือนกัน หรือในศาสนาเดียวกันแต่ต่างนิกาย ก็อาจไม่เหมือนกัน และศีลธรรมของแต่ละศาสนา หรือแต่ละนิกายศาสนาก็ต่างกัน ซึ่งความไม่เหมือนกันเหล่านั้น ก็ทั้งก่อให้เกิดความขัดแย้ง และสงครามระหว่างศาสนา ระหว่างนิกายศาสนา หรือเกิดการแบ่งชนชั้นสูง-ต่ำทางสังคม เพราะมี “ธรรม” หรือทำ “กรรม” มาต่างกันเป็นต้น

ไม่พึงเชื่อผิดๆ ว่า สงครามระหว่างศาสนาและนิกายศาสนา เป็นประวัติศาสตร์ของคริสต์และอิสลามเท่านั้น เพราะประวัติศาสตร์ของ “รัฐพุทธศาสนา” โบราณในไทย พม่า เขมรก็รบกัน เผาวัด เผาวังกันมาตลอด บางครั้งกษัตริย์พุทธเมืองหนึ่งยกทัพไปปล้นไตรปิฎกจากอีกเมืองหนึ่งก็เคยมี 

ปัจจุบัน พุทธเถรวาทในศรีลังกา พม่า ไทยต่างมีปัญหากับชนกลุ่มน้อยของศาสนาอื่น เช่น พุทธเถรวาทศรีลังกากดปราบพวกทมิฬชาวฮินดู พุทธเถรวาทพม่ากดปราบชาวมุสลิมโรฮิงญา พุทธเถรวาทไทยไม่ลงรอยกับอิสลามในจังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น แถมพุทธราชาชาตินิยมเป็นพลังสำคัญของฝ่ายขวาในการกดปราบฝ่ายซ้ายมายาวนาน เช่น ฝ่ายขวาสร้างวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” หรือฆ่าคอมมิวนิสต์เพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ได้บุญมากกว่าบาปมาสนับสนุนการฆ่าฝ่ายซ้ายในเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นต้น แม้แต่รัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 ก็ได้รับการสนับสนุนด้วยวาทกรรมคนดี ศีลธรรม และธรรมาธิปไตยแบบพุทธเถรวาทไทยอย่างเข้มข้น

ปัญหาของศาสนาในแง่มุมต่างๆ ที่ว่ามา ในด้านหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าความแตกต่างหลากหลายของศาสนา, ศีลธรรม, ความหมายของคนดีเป็นต้นคือข้อเท็จจริง หรือเป็นสิงที่มีอยู่จริงในโลก และอีกด้านหนึ่ง คือความแตกต่างเหล่านั้นมีปัญหาซับซ้อนในการดำรงอยู่ร่วมกัน เพราะ.- 

1) ขาดความอดกลั้น (tolerance) ระหว่างศาสนา และนิกายศาสนา ศาสนจักรเองก็ไม่อดกลั้นต่อความเชื่อ หรือความจริงแบบอื่นด้วย เช่น มองว่าโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ กระทั่งวิทยาศาสตร์ล้วนเป็น “ความเชื่อนอกรีต” ที่อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ การขาดความอดกลั้นนำไปสู่การกดปราบ ล่าแม่มด ความขัดแย้ง และสงคราม และ 

2) ศาสนาหลักๆ ที่ไม่แยกจากรัฐและมีอิทธิพลทางการเมือง ล้วนแต่เป็นศาสนาที่สถาปนาระบบชนชั้นรูปปิรามิด และระบบการเมืองแบบเผด็จการอำนาจนิยม (authoritarianism) 

แนวคิด “พหุนิยมทางศีลธรรม” (moral pluralism) ไม่เพียงแค่ยอมรับว่า มีความแตกต่างหลากหลายของคุณค่าทางศีลธรรมตามความเชื่อทางศาสนาต่างๆ อยู่จริง แต่ต้องการแก้ปัญหาในข้อ 1) และ 2) ด้วย อีกทั้งยืนยันด้วยว่า ไม่ได้มีแต่ “ศีลธรรมแบบศาสนา” (religious morals) เท่านั้น หากแต่มี “ศีลธรรมแบบไม่ใช่ศาสนา” (nonreligious morals) ด้วย เช่น ศีลธรรมแบบอเทวนิยม (atheism) ศีลธรรมแบบโลกวิสัย หรือศีลธรรมแบบปฐมปรัชญา และศีลธรรมแบบปรัชญาเสรีนิยมเฉดต่างๆ ศีลธรรมแบบมาร์กซิสต์ รวมทั้งศีลธรรมจากความเชื่อในพลังศักดิ์สิทธิ์ของธรรมชาติของชนเผ่าต่างๆ หรือคุณค่าตามความเชื่อแบบนิเวศวิทยาเชิงลึกที่มองว่า สรรพสิ่งในธรรมชาติต่างดำรงอยู่ในรูปแบบของการพึ่งพาซึ่งกันและกัน เป็นต้น

เมื่อแนวคิดพหุนิยมทางศีลธรรมยอมรับข้อเท็จจริงว่า มีความแตกต่างหลากหลายของคุณค่าทางศีลธรรมแบบศาสนา และแบบไม่ใช่ศาสนาอยู่จริงในโลก หรือในแทบทุกสังคมบนโลกใบนี้ และตระหนักในปัญหาข้อ 1) และ 2) แนวคิดนี้จึงเสนอ “หลักการสากล” (universal principles) หรือหลักการทั่วไปเพื่อรองรับให้ความแตกต่างหลากหลายทางศีลธรรมตามความเชื่อศาสนา และไม่ใช่ศาสนาอยู่วมกันได้อย่างสันติ และสร้างสรรค์

ดังนั้น เวลาพูดถึงพหุนิยมทางศีลธรรม (หรือ “พหุนิยทางวัฒนธรรม – multiculturalism” ก็ตาม) ไม่ใช่พูดแค่ใน “ระดับข้อเท็จจริง” ว่า มีความแตกต่างหลากหลายทางศีลธรรม (วัฒนธรรม) อยู่จริงเท่านั้น แต่ต้องพูดใน “ระดับหลักการ” ด้วยว่า ความแตกต่างหลากหลายเหล่านั้น จะอยู่ร่วมกันได้บนหลักการ หรือ “กติกากลาง” แบบไหน ถึงจะเป็นธรรมกับทุกคน ทุกฝ่าย หรือเป็นหลักการที่ทำให้คนดีแบบศาสนาต่างๆ นิกายต่างๆ ไม่ต้องรบราฆ่าฟันกันอีก และไม่อ้างธรรมะ หรือศีลธรรมแบบศาสนาใดๆ มา “แบ่งชนชั้น” ทางสังคม สนับสนุนการเมืองแบบเผด็จการอำนาจนิยม และกดเหยียดสตรี และคนหลากหลายทางเพศได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ชาร์ลส์ เทย์เลอร์ (Charles Taylor) นักปรัชญาชาวแคนาเดียน สนับสนุนพหุนิยมทางศีลธรรม ด้วยเหตุผลที่น่ารับฟัง เช่นในงานชื่อ “แนวคิดโลกวิสัยและเสรีภาพแห่งมโนธรรม” (Secularism and Freedom of Conscience) เขาสนับสนุนแนวคิดของจอห์น รอลส์ (John Rawls) ที่แยกระหว่าง “คุณค่าทางศีลธรรม” (moral values) กับ “คุณค่าทางการเมือง” (political values) 

คุณค่าทางศีลธรรม มาจากความเชื่อทางศาสนาต่าง ๆ และความเชื่อแบบไม่ใช่ศาสนา หรือปรัชญาต่างๆ เป็นคุณค่าที่ขึ้นกับ “เสรีภาพในการเลือก” ของปัจเจกบุคคลแต่ละคน ส่วนคุณค่าทางการเมือง เป็น “คุณค่าแกนกลาง” (core values) หรือคุณค่าหลักที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของสังคมประชาธิปไตย ที่พลเมืองเสรีและเสมอภาคทุกคนต้องยึดถือและปกป้องร่วมกัน แม้ว่าแต่ละคนจะมีความเชื่อทางศาสนา และไม่ศาสนาต่างกันอย่างไรก็ตาม

เทย์เลอร์อธิบายว่า รัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่มีความสัมพันธ์กับคุณค่าทางศีลธรรมแบบศาสนาและแบบไม่ใช่ศาสนาซึ่งมีความแตกต่าง หลากหลาย และซับซ้อน จะต้องเป็นรัฐที่ใช้ “ระบบการปกครองแบบโลกวิสัย” (regime of secularism) ที่แยกสถาบันศาสนาออกจากสถาบันรัฐ แยกอำนาจทางศาสนากับอำนาจทางการเมืองเป็นอิสระจากกัน เพื่อให้อำนาจรัฐ หรืออำนาจทางการเมืองสามารถ “เป็นกลาง” (neutral) ระหว่างความเชื่อ, โลกทัศน์ หรือกรอบคิดเกี่ยวกับคุณค่าทางศีลธรรมตามความเชื่อแบบศาสนาและแบบไม่ใช่ศาสนาได้จริง 

ความเป็นกลางที่ว่านี้ อาจไม่ใช่ “เป็นกลางอย่างสัมบูรณ์” เพราะรัฐจำเป็นต้องเลือก “คุณค่าแกนกลาง” หรือคุณค่าหลักของระบอบประชาธิปไตย เช่น หลักสิทธิและเสรีภาพนขั้นพื้นฐานต่างๆ หลักการกระจายโอกาสที่เสมอภาค และเป็นธรรมแก่พลเมืองทุกคน หลักอำนาจอธิปไตยของประชาชน และสิทธิมนุษยชนเป็นต้นมากำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม

แต่ความไม่เป็นกลางอย่างสัมบูรณ์ ในความหมายดังกล่าว คือ “ความจำเป็น” เพราะว่ารัฐจำเป็นต้องปกป้องเสรีภาพและความเสมอภาคของพลเมืองทุกคน เพื่อให้พวกเขาแต่ละคนสามารถบรรลุเป้าหมายเกี่ยวกับความดี, การมีชีวิตที่ดี หรือการมีชีวิตที่มีคุณค่า มีความสุข ตามความเชื่อทางศาสนาและไม่ใช่ศาสนา หรือปรัชญาต่างๆ อันเป็น “ความเชื่อส่วนบุคคล” ของปัจเจกแต่ละคน 

ดังนั้น รัฐจึงไม่ควรเป็น “ตัวแทน” ของระบบคุณค่าทางทางศีลธรรมของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือระบบความเชื่อทางศีลธรรมของแนวคิดปรัชญาหนึ่งใดโดยเฉพาะ เพื่อกำหนดหรือบังคับยัดเยียดระบบความเชื่อนั้นแก่พลเมืองทุกคน ด้วยเหตุนี้ รัฐจึงสถาปนา “ศาสนาประจำชาติ” หรือบังคับเรียนเพื่อปลูกฝังระบบความเชื่อทางศาสนา ในฐานะเป็น “หลักจริยธรรมของชาติ” ตามที่ปราชญ์พุทบางท่านเสนอไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ทั้งรอลส์และเทย์เลอร์เห็นตรงกันว่า เป็นไปได้ที่ใน “ระบบความเชื่อที่ครอบคลุม” (comprehensive doctrines) ของศาสนาต่างๆ, ปฐมปรัชญาต่างๆ, ปรัชญาเสรีนิยมเฉดต่างๆ (เช่น ปรัชญาเสรีนิยมแบบล็อก, รุสโซ, คานท์, มิลล์เป็นต้น) หรือระบบความเชื่อแบบอเทวนิยม และความเชื่อแบบโลกวิสัยต่างๆ (secular beliefs) จะมีสาระสำคัญบางอย่าง “เหลื่อมซ้อน” (overlap) กันอยู่ และมิติที่เหลื่อมซ้อนกันนั้นจะ “สอดคล้อง” และมีส่วนสำคัญในทางสนับสนุนคุณค่าทางการเมือง อันเป็นคุณค่าแกนกลาง หรือ “คุณค่าสาธารณะ” (public values) ของสังคมประชาธิปไตยที่พลเมืองทุกคนยึดถือร่วมกัน 

ดังนั้น รอลส์และเทย์เลอร์จึงเสนอว่า ถ้าเราจะนำคุณค่าทางศีลธรรมตามระบบความเชื่อทางศาสนา หรือปรัชญาใดๆ มาอภิปรายสาธารณะ ที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม หรือมีผลผูกพันกับพลเมืองทุกคน ในรูปของการบัญัติกฎหมาย หรือนโยบายสาธารณะต่างๆ จะต้องเลือกความเชื่อที่สอดคล้อง หรือตีความให้สอดคล้อง ไปกันได้ หรือสนับสนุน “คุณค่าทางการเมือง” อันเป็นคุณค่าแกนกลาง หรือคุณค่าสาธารณะที่พลเมืองทุกคนยอมรับร่วมกันได้ 

ไม่ใช่อ้างความเชื่อทางศาสนา หรือศีลธรรมใดๆ เพื่อให้รัฐออกกฎหมาย หรือกำหนดนโยบายเอื้อประโยชน์ต่อการมีอภิสิทธิ์ของสถาบันศาสนา กลุ่มศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรืออ้างหลักศีลธรรมศาสนาเพื่อเชิดชูศาสนาตนเองให้เหนือกว่า หรือสูงส่งกว่าคุณค่าสาธารณะทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตย เพราะการอ้างเช่นนั้น ย่อม “ไม่สมเหตุสมผล” ที่จะทำให้พลเมืองเสรีและเสมอภาค ผู้ซึ่งมีความเชื่อทางศาสนาและศีลธรรมส่วนบุคคลแตกต่างกันอยู่แล้วสามารถยอมรับร่วมกันได้ 

พูดอีกอย่างคือ บทบาทของสถาบันต่างๆ ทางการเมืองและทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สถาบันกษัตริย์ กองทัพ ศาล สถาบันการศึกษา หรือระบบราชการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด กระทั่งบุคคลในตำแหน่งสาธารณะต่างๆ หรือบทบาทเคลื่อนไหวเรียกร้อง ชุมนุมทางการเมืองของเราในฐานะ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” (free and equal citizens) จะต้องสอดคล้องกับ “คุณค่าสาธารณะทางการเมือง” ของระบอบประชาธิปไตย เพื่อเป็นหลักประกัน “เสรีภาพปัจเจกบุคคล” รองรับให้ความแตกต่างและหลากหลายทางศีลธรรม และวัฒนธรรมเป็นไปได้จริง และเป็นหลักประกัน “เสรีภาพทางการเมือง” รองรับให้พลเมืองที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิดความเชื่อ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

โดยหลักการแยก “คุณค่าทางศีลธรรม” ตามความเชื่อส่วนบุคคล กับ “คุณค่าทางการเมือง” อันเป็นคุณค่าแกนกลาง หรือคุณค่าสาธารณะที่ทุกคนต้องยึดถือและปกป้องร่วมกัน เช่นที่กล่าวมา จึงไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจที่ครูอาจารย์สามารถสอดแทรกศีลธรรมศาสนาอันเป็นความเชื่อส่วนตัวแก่ผู้เรียนในแทบทุกวิชา แต่น่าภูมิใจมากกว่าที่ครูอาจารย์จะเคารพ “เสรีภาพแห่งมโนธรรม” ของผู้เรียน ด้วยการจัดการเรียนการสอนสนับสนุนความคิดอิสระ ความเป็นตัวของตัวเอง การเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาคทางศาสนา และความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนา และการมีความอดกลั้นต่อความแตกต่างในเรื่องดังกล่าว

เทย์เลอร์เสนอว่า ระบบการศึกษาควรเน้น “ความรู้ทางจริยศาสตร์และการเมือง” (ethical and political knowledge) โดยนำคุณค่าทางศีลธรรมจากระบบความเชื่อแบบศาสนา และแบบไม่ใช่ศาสนามาสนทนาแลกเปลี่ยนกันอย่างเป็นธรรม เพื่อหาแง่มุมที่สอดคล้อง หรือสนับสนุนคุณค่าสาธารณะทางการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่ “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” (solidarity) ในการเคารพและปกป้องคุณค่าสาธารณะทางการเมืองร่วมกัน และการเคารพ และอดกลั้นต่อความแตกต่างหลากหลายของความเชื่อส่วนบุคคล 

แต่ที่น่าเศร้าคือ ในบ้านเรา ประชาชนที่อ้างและยืนยัน “คุณค่าแกนกลาง/คุณค่าสาธารณะ” ทางการเมือง คือหลักสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ หลักการกระจายโอกาสที่เท่าเทียม และเป็นธรรมแก่พลเมืองทุกคน หลักอำนาจอธิปไตยของประชาชน หลักสิทธิมนุษยชน เป็นต้น เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการอ้างหลักการที่ถูกต้อง เพื่อให้พลเมืองที่มีความคิดความเชื่อแตกต่างหลากหลายทางศีลธรรม ศาสนา และวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ กลับถูกกล่าวหาว่า “สร้างความแตกแยก” แต่ฝ่ายขวาที่อ้างคุณค่าทางการเมืองแบบเผด็จการอำนาจนิยม และอ้างศาสนา ศีลธรรมสนับสนุนรัฐประหาร กลับกลายเป็นฝ่าย “สร้างความสามัคคี” นี่ช่างเป็นวิธีคิดที่บิดเบี้ยวและฉ้อฉลสิ้นดี

มีแต่ต้องเชื่อมั่นร่วมกันทุกฝ่ายว่า “คุณค่าทางการเมือง” ของระบอบประชาธิปไตย เป็นคุณค่าแกนกลาง คุณค่าสาธารณะ หรือคุณค่าหลักที่สถาบันกษัตริย์ สถาบันการเมือง ศาล กองทัพ ระบบราชการ สถาบันการศึกษา ศาสนา และสถาบันอื่นๆ ทางสังคม และพลเมืองทุกคนในฐานะ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” ต้องยึดถือปฏิบัติและปกป้องร่วมกันเท่านั้น พหุนิยมทางศีลธรรม (และทางวัฒนธรรม) ถึงจะเป็นไปได้จริง หรือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ บนพื้นฐานของการมีเสรีภาพ เสมอภาค การเคารพ และอดกลั้นต่อความคิดความเชื่อที่แตกต่างหลากหลาย จึงจะเป็นไปได้จริง
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net