Skip to main content
sharethis

เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปีการต่อสู้ต่อต้านการทำรัฐประหารของประชาชนชาวเมียนมา ประชาไทประมวลเหตุการณ์ตั้งแต่ 1 ก.พ. 64 จนถึงวันที่ 28 ม.ค. 65 ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับการเมืองพม่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานี้  

 

8 พ.ย. 63 -  วันเลือกตั้งทั่วไปในพม่า ผลการเลือกตั้งพรรค NLD ชนะถล่มทลาย โดยได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง 315 ที่นั่งจาก 440 ที่นั่ง และสภาสูงจำนวน 161 ที่นั่งจากทั้งหมด 224 ที่นั่ง

1 ก.พ. 64 - กองทัพพม่า นำโดย พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ตัดสินใจทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนช่วงก่อนมีการเปิดสภา โดยอ้างว่าพรรค NLD ทุจริตการเลือกตั้งทั่วไป ขณะเดียวกัน กองทัพมีการควบคุมตัวแกนนำพรรค NLD หลายคน รวมถึงอองซานซูจี และประธานาธิบดี วินมยิ้ด 

นอกจากนี้ กองทัพพม่าอ้างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2008 มาตรา 417 ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี และตั้งมยิ้ดส่วย รองประธานาธิบดีพม่าคนที่ 2 โควตากองทัพ เป็นประธานาธิบดีรักษาการ  

สำหรับการทำรัฐประหารของมินอ่องหล่ายครั้งนี้ได้นำพาพม่าไปสู่วิกฤตการเมืองครั้งสำคัญ ประชาชนจำนวนมากลุกขึ้นต่อต้านการทำรัฐประหาร และเกิดสงครามระหว่างกองทัพและกองกำลังชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่จนถึงปัจจุบัน 

ทั้งนี้ การกระทำของกองทัพถือเป็นการยุติกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในพม่าซึ่งเริ่มขึ้นในสมัยของประธานาธิบดี เตงเส่ง เมื่อปี 2554 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สถานีโทรทัศน์เมียวดีทีวี ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของกองทัพพม่า ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี (ที่มา: เมียวดีทีวี)

ชาวพม่าในไทยนัดรวมตัวประท้วงต้านรัฐประหารหน้าสถานทูตพม่า ประจำประเทศไทย ถนนสาทร ก่อนถูกตำรวจไทยใช้กำลังสลายการชุมนุมในเวลาต่อมา  

ด้านพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ออกมาประณามกองทัพพม่าที่ทำการรัฐประหาร และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักการเมืองที่ถูกจับกุมตัวทั้งหมดทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข

บรรยากาศการประท้วงของชาวพม่าในไทยหน้าสถานทูตพม่า ประจำประเทศไทย ถนนสาทร เมื่อ 1 ก.พ. 64

3 ก.พ. 64 - จุดเริ่มต้น CDM เจ้าหน้าที่สาธารณสุขโรงพยาบาลหลายแห่งในพม่าประกาศไม่ร่วมมือกับทหาร บุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่เมืองมัณฑะเลย์ กว่า 80 คน ประกาศอารยขัดขืนต่อรัฐบาลทหาร โดยติดริบบิ้นสีแดง และชูสัญลักษณ์ 3 นิ้ว

กองทัพพม่าตั้งข้อหา อองซานซูจี นำเข้าและครอบครองวิทยุสื่อสาร หรือ walkie-talkie ผิดกฎหมาย และ ปธน. วินมยิ้ด ถูกตั้งข้อหา ละเมิดการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติ จากการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อ พ.ย. 63   

แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่มัณฑะเลย์ประกาศไม่ร่วมมือกับกองทัพ (ที่มา: DVB)

4 ก.พ. 64 - ประชาชนทั้งไทยและพม่านัดรวมตัวทำกิจกรรม ‘Light Up Myanmar’ จุดเทียน ส่องไฟ ร้องเพลง หน้าสถานทูตพม่า ประจำประเทศไทย ถ.สาทรเหนือ แสดงจุดยืนไม่เอารัฐประหาร

กิจกรรม Light Up in Myanmar หน้าสถานทูตพม่า ถนนสาทร เมื่อ 4 ก.พ. 64

6 ก.พ. 64 - ประชาชนชาวพม่าประท้วงต้านรัฐประหารในนครย่างกุ้ง พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซานซูจี ด้านรัฐบาลทหารพม่าสั่งตัดอินเทอร์เน็ต และปิดกั้นสื่อสังคมออนไลน์ภายในประเทศเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทวิตเตอร์และอินสตาแกรม

7 ก.พ. 64 - ประชาชนในประเทศพม่าหลายพื้นที่ออกมาต่อต้านการทำรัฐประหาร ขณะที่รอยเตอร์ส เผยเป็นการประท้วงใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550 

ชาวพม่าในไทยหลายร้อยคนชุมนุมหน้าสำนักงานสหประชาชาติ หรือ UN ถนนราชดำเนินนอก และหน้าสถานทูตพม่า ถนนสาทร เพื่อต่อต้านการทำรัฐประหาร 

ด้านสภากอบกู้รัฐฉาน หรือ RCSS ออกมาตำหนิการยึดอำนาจของกองทัพ กระทบสันติภาพภายในประเทศ 

8 ก.พ. 64 - ชุมนุมต้านรัฐประหารในพม่าขยายตัวต่อเนื่อง กลายเป็นการนัดหยุดงานโดยข้าราชการ-แรงงานหลายพื้นที่ ในย่านอุตสาหกรรมหล่ายตายา แรงงานเดินขบวนใหญ่ ขณะที่เมืองหลวงเนปิดอ ตำรวจใช้รถฉีดน้ำสลาย แต่ผู้ชุมนุมยังปักหลักเหนียวแน่น ส่วนที่รัฐฉาน เมืองตองจี-ท่าขี้เหล็กชุมนุมต่อเนื่อง 

คนพม่าในไทย ราว 100 คน ชุมนุมทำกิจกรรมชูป้ายร้องเพลงต่อต้านรัฐประหาร หน้าสถานทูตพม่า ประจำประเทศไทย 

กองทัพพม่า ประกาศโรดแมป 5 ข้อ คืนประชาธิปไตยให้กับประเทศเมียนมา 

1. จะมีการคัดเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพชุดใหม่ พร้อมทั้งกำหนดภาระหน้าที่ เพื่อเตรียมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะล้อตามกฎหมาย

2.จะมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและบริหารจัดการโควิด-19

3.จะมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

4.จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนทั้งประเทศและให้สอดคล้องกับข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ

5.เมื่อยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว จะจัดให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมตามครรลองประชาธิปไตย โดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2008 และจะถ่ายโอนหน้าที่การบริหารรัฐให้กับพรรคที่ชนะการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย

19 ก.พ. 64 - เมียะต้วยต้วยข่าย ผู้ประท้วงชาวพม่าที่เสียชีวิตรายแรกจากการถูกกระสุนจริงยิงเข้าที่ศีรษะระหว่างเข้าร่วมชุมนุมต้านรัฐประหาร  

22 ก.พ. 64 - ผู้ชุมนุมพม่านัดหยุดงานทั่วประเทศ ในแคมเปญ 22222 

การนัดหยุดงานประท้วง 22222 ที่นครย่างกุ้งเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2564 (ที่มา: ขอบคุณนักข่าวพลเมืองเอื้อเฟื้อภาพ)

26 ก.พ. 64 - จ่อโมทุน ทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ ประณามการทำรัฐประหาร และชู 3 นิ้ว กลางวงประชุมสมัชชาใหญ่

จ่อโมทุน ผู้แทนถาวรของรัฐบาลพม่าประจำสหประชาชาติ หรือ UN | ที่มาภาพ: cgtneurope

1 มี.ค. 64 - อองซานซูจีฟังการพิจารณาคดีผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ที่กรุงเนปิดอ โดนเพิ่ม 2 ข้อหา ฐานยุยงปลุกปั่น และครอบครองวิทยุสื่อสารโดยไม่มีใบอนุญาต 

13 มี.ค. 64 - คณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ (CRPH) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของ ส.ส. จากพรรค NLD และ ส.ส.ชาติพันธุ์ ออกแถลงการณ์ครั้งแรก ให้คำมั่นจะล้มการทำรัฐประหาร และก่อตั้งระบอบการปกครองสหพันธรัฐประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในเมียนมา

20 มี.ค. 64 - พบกองข้าวปริศนา 700 กระสอบ แกลอนน้ำมัน และอื่นๆ ถูกวางอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน ใกล้กับบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ตรงข้ามฐานกองทัพพม่า ‘ซอแลท่า’ ในเขตมือตรอ รัฐกะเหรี่ยง ภายหลังกองทัพพม่ายอมรับเป็นผู้สั่ง ก่อนที่ 23-24 มี.ค. 64 มีรถบรรทุกขนกลับไปทั้งหมด

27 มี.ค. 64 - ทหารกะเหรี่ยง KNLA กองพล 5 ยึดฐานเซหมื่อท่า ของกองทัพพม่าริมแม่น้ำสาละวิน ตรงกับวันกองทัพพม่า ทำให้กองทัพพม่าโจมตีทางอากาศพื้นที่จังหวัดมือตรอ หรือผาปูน รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของ KNLA กองพล 5 ส่งผลให้มีประชาชนจำนวนประมาณ 3,000 คน ต้องอพยพมายังริมแม่น้ำสาละวินฝั่งไทย 

1 เม.ย. 64 - อองซานซูจี ถูกทางการตั้งข้อหาละเมิดความลับราชการ 

16 เม.ย. 64 - ประชาชนพม่างดเล่นน้ำวันสงกรานต์ชั่วคราว จัดประท้วง “สงกรานต์ปฏิวัติ” ต่อต้านรัฐประหาร

CRPH ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ National Unity Government - NUG เพื่อโค่นกองทัพพม่า พร้อมเปิดโผ ครม. ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ สะท้อนเจตนารมย์การสร้างสหพันธรัฐอย่างแท้จริง 

มานวินข่ายตาน รักษาการผู้นำ สภาคณะกรรมการผู้แทนสภาแห่งสหภาพ (CRPH) และขณะนี้ดำรงตำแหน่งนายกฯ แห่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ภาพเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2564

27 เม.ย. 64 -  มินอ่องหล่าย เข้าร่วมประชุมผู้นำสูงสุดอาเซียนสมัยพิเศษเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์เมียนมา ก่อนบรรลุฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อฟื้นคืนสันติภาพในเมียนมา

ด้าน KNU บุกยึดฐาน ‘ซอแลท่า’ ตรงข้ามบ้านแม่สามแลบ ขณะที่กองทัพพม่าตอบโต้ด้วยปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ

ที่ประชุมอาเซียน สมัยพิเศษ เพื่อแก้ไขวิกฤตเมียนมา เมื่อ 27 เม.ย. 64

2 พ.ค. 2564 - เจ้าหน้าที่ตำรวจและตำรวจตรวจคนเข้าเมืองควบคุมตัวประชาชนจำนวน 1 ราย ขณะมาร่วมประท้วงต้านรัฐประหาร แคมเปญ ‘Global Myanmar Spring Revolution’ ที่หน้าสำนักงาน UN ถนนราชดำเนินนอก 

5 พ.ค. 64 - รัฐบาล NUG ประกาศจัดตั้งกองกำลังพลเรือน (PDF) เพื่อปกป้องตัวเองจากการโจมตีของกองทัพพม่า 

10 พ.ค. 64 - รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ตั้งกระทรวงสิทธิมนุษยชน โดยมีอ่องเมียวมิน นักต่อสู้เพื่อสิทธิฯ LGBTQ+ นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีคนแรกของกระทรวง

16 พ.ค. 64 - ตูซาวิ้นลวิ่น (Thuzar Wint Lwin) ชาวพม่าเชื้อสายชิน และผู้ประกวดมิสยูนิเวิร์สจากเมียนมา กล่าวต่อสื่อ ขอให้ประชาคมโลกช่วยเหลือประชาชนพม่า หลังกองทัพโจมตีเมืองมินดัต ในรัฐชิน 

24 พ.ค. 64 - แดนนี เฟนสเตอร์ นักข่าวสัญชาติอเมริกัน และ บ.ก.บห. สำนักข่าว Myanmar Frontier ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมที่สนามบินนานาชาติย่างกุ้ง ก่อนขึ้นเครื่องบินไปกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย จนกระทั่งวันที่ 13 พ.ย. 64 เฟนสเตอร์ได้รับการปล่อยตัว และเดินทางกลับสหรัฐฯ 

อองซานซูจี ปรากฏตัวในศาลครั้งแรกนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 64 ผ่านสื่อโทรทัศน์ทางการพม่า ‘MDW’

อองซานซูจีปรากฏตัวครั้งแรกในสื่อโทรทัศน์ของทางการ ภาพจาก Natty in Myanmar

28 พ.ค. 64 - พนักงานอัยการศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งฟ้องนักข่าวสังกัดสำนักข่าว DVB 3 คน และผู้ติดตามอีก 2 คน ข้อหาหลบหนีเข้าเมือง โดยศาลได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องในคดีนี้ในวันเดียวกัน ก่อนที่ 7 มิ.ย. 64 นักข่าวพร้อมผู้ติดตามทั้งหมดจะได้ไปประเทศที่ 3 อย่างปลอดภัย 

คณะ ครม. ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG

7 ก.ค. 64 - คณะทำงานเจรจาสันติภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ (PPST) ที่เป็นองค์คณะของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม ที่ร่วมเจรจาหยุดยิงทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 ประกาศยุติการเจรจาสันติภาพกับกองทัพพม่า

1 ส.ค. 64 - กองทัพอาระกัน AA ขยายอำนาจตุลาการและการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่รัฐยะไข่ โดยให้ประชาชนรายงานเหตุอาชญากรรมให้พวกเขาทราบตั้งแต่ 1 ส.ค. แทนการแจ้งตำรวจและฟ้องศาลพม่า อดีต ส.ส.รัฐยะไข่ประเมินว่า กองทัพอาระกัน AA ควบคุมพื้นที่รัฐได้ถึง 2 ใน 3 ส่วน อย่างไรก็ตาม กองทัพพม่ายังรักษาความสัมพันธ์อันดีไว้กับกองทัพอาระกัน

2 ส.ค. 64 - พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เซ็นแก้กฎหมายต้านการก่อการร้าย เพิ่มบทลงโทษผู้ที่สนับสนุนกิจกรรมต่อต้านเผด็จการ สื่อมวลชนที่รายงานสนับสนุนรัฐบาล NUG โดนเล่นด้วย เพราะถือว่าโฆษณาชวนเชื่อหนุนผู้ก่อการร้าย 

3 ส.ค. 64 - พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลรักษาการ หลังออกมากล่าวแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ให้คำมั่นจะจัดการเลือกตั้งอีก 2 ปีข้างหน้า 

4 ส.ค. 64 - ที่ประชุมอาเซียนเผยแพร่แถลงการณ์ร่วม ตั้ง เอรีวัน ยูซอฟ รมว.ต่างประเทศคนที่ 2 จากบรูไน เป็นผู้แทนพิเศษเยือนพม่า เพื่อคลี่คลายวิกฤตการเมืองในพม่า

26 ต.ค. 64 - พม่าถูกตัดออกจากการประชุมผู้นำสูงสุดอาเซียน ครั้งที่ 38 เหตุไม่ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนประจำปี ครั้งที่ 38 เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 64 (ภาพจาก กระทรวงการต่างประเทศ)

29 ต.ค. 64 - วินเต็ง อายุ 79 ปี ผู้ช่วยของอองซานซูจี ถูกตัดสินจำคุกนาน 20 ปี จากข้อหากบฏทรยศชาติ

23 พ.ย. 64 - จีนเข้าร่วมประชุมกับผู้นำชาติอาเซียน สมัยพิเศษ ในวาระฉลองความสัมพันธ์ครบรอบปีที่ 30 ของจีน-อาเซียน แต่ผู้นำพม่ายังไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม

5 ธ.ค. 64 - อองซานซูจีถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานยุยงปลุกปั่น และละเมิดข้อจำกัดมาตรการป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเธอถูกกำหนดให้รับโทษ 2 ปี โดยการกักตัวในสถานที่ที่ไม่เปิดเผย 

14 ธ.ค. 64 - ทหารกองทัพพม่าบุกเข้าไปตรวจค้นภายในหมู่บ้านเลเก๊ะก่อ ทางทิศใต้ของจังหวัดเมียวดี และจับกุมฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่า

15 ธ.ค. 64 - กองทัพพม่าและฝ่ายต่อต้านหลายกลุ่มเปิดฉากรบชิงหมู่บ้านเลเก๊ะก่อ ทางใต้เมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ส่งผลให้มีประชาชนนับพันต้องลี้ภัยมาที่ชายแดนริมแม่น้ำเมยด้านตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก  

ชาวพม่าต้องอพยพข้ามแม่น้ำเมยมาฝั่งไทย เนื่องจากหวั่นเกรงสถานการณ์สู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับ KNLA เมื่อ 19 ธ.ค. 64 (ภาพจาก KIC)

4 ม.ค. 65 - รักษาการแทนประธานาธิบดีแห่งรัฐบาล NUG กล่าวสุนทรพจน์ในวันครบรอบ 74 ปี ปลดแอกจากจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งตรงกับวันที่ 4 ม.ค.ของทุกปี พร้อมประกาศให้สงครามปกป้องตนเอง เป็นการปลดแอกครั้งที่ 2 เพื่อเอกราชของเมียนมา 

ดูหว่าละชิละ รักษาการแทนประธานาธิบดีแห่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) (ภาพจากไลฟ์สดเฟซบุ๊ก National Unity Government of Myanmar)

7 ม.ค. 65 - ‘ฮุน เซน’ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาและประธานอาเซียนคนปัจจุบัน เดินทางเยือนพม่า และมีกำหนดเข้าพบ ‘มินอ่องหล่าย’ ผู้นำทหารของพม่า 

ภาพการประชุมระหว่างฮุน เซน นายกกัมพูชา และ มินอ่องหล่าย หัวหน้า SAC ระหว่าง 7-8 ม.ค. 65 (ภาพจาก Global New Light of Myanmar)

10 ม.ค. 65 - ศาลตัดสินจำคุกอองซานซูจี 4 ปี จากข้อหาที่รวมถึงการครอบครองวิทยุสื่อสารที่ไม่มีใบอนุญาต

14 ม.ค. 65 - รัฐบาลทหารประกาศฟ้อง 5 ข้อหาคอร์รัปชั่นใหม่กับอองซานซูจี ที่โดยรวมแล้วอาจทำให้เธอเผชิญกับโทษจำคุกสูงถึง 164 ปี หากถูกตัดสินว่ามีความผิดทั้งหมด

ปีแห่งการสู้รบระหว่างกองทัพ-พลเรือน

เมื่อ 21 ม.ค. 65 มีรายงานเผยแพร่โดยกลุ่มเสียงก้าวหน้า หรือ Progressive Voice - PV ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมรณรงค์ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ระบุว่าตลอด 11 เดือนหลังกองทัพพม่าทำรัฐประหาร จนถึงวันที่ 29 ธ.ค. 65 มีการปะทะด้วยอาวุธสงครามระหว่างกองทัพพม่าและพลเรือน และการโจมตีประชาชน สูงถึง 7,686 ครั้ง โดยมากสุดในช่วง ก.ย. - ธ.ค. 64 นอกจากนี้ ตัวเลขการปะทะในปี 64 มีจำนวนสูงขึ้นถึง 715% เมื่อเทียบกับการปะทะและการโจมตีพลเรือน 2563 

รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า ตัวเลขการปะทะกันระหว่างทหารพม่าและประชาชน ในปี 64 มีจำนวนเกือบเทียบเท่าเหตุปะทะด้วยอาวุธสงครามในประเทศซีเรีย ในช่วงเดียวกัน อยู่ที่ 7,742 ครั้ง และสูงกว่าในอัฟกานิสถานในช่วงเดียวกัน ซึ่งอยู่ที่ 6,481 ครั้ง ที่อิรัก 6,270 ครั้ง และเยเมน 3,732 ครั้ง   

ทั้งนี้ รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมา หรือ AAPP ซึ่งเป็นกลุ่มภาคประชาชนที่มอนิเตอร์และรวบรวมข่าวเกี่ยวกับการสังหารประชาชน และการจับกุมด้วยข้อหาทางการเมือง เผยว่า นับตั้งแต่กองทัพทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 64-1 ก.พ. 65 มีประชาชนเสียชีวิตทั้งหมดอย่างต่ำ 1,503 ราย ถูกจับกุม 11,838 ราย และหลบหนีการจับกุม 1,972 ราย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net